แจ้งผู้เยี่ยมชม...บล๊อกนี้ได้จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการบัญชีและการจัดการระหว่างผู้เยี่ยมชม

วันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2555


งบกำไรขาดทุน 
(Profit and Loss Statement หรือ Income Statement)


         งบกำไรขาดทุน หมายถึง งบที่แสดงผลการดำเนินงานของกิจการในรอบระยะเวลาบัญชีที่กำหนดแต่จะต้องไม่เกิน 1 ปี เพื่อวัดผลการดำเนินงานของธุรกิจว่ามีรายได้และค่าใช้จ่ายในรอบระยะเวลานั้นเท่าใด และเมื่อนำรายได้หักด้วยค่าใช้จ่ายแล้ว จะเป็นกำไรสุทธิ(Net Income หรือ Net Profit) หรือขาดทุนสุทธิ (Net Loss)
         งบกำไรขาดทุน คือ งบการเงินที่แสดงผลการดำเนินงานของกิจการสำหรับรอบระยะเวลาหนึ่ง อาจเป็น 3 เดือน หรือ 6 เดือน ประกอบด้วย
  1. รายได้ หมายถึง สินทรัพย์ที่กิจการได้รับมาจากการประกอบกิจกรรม
  2. ค่าใช้จ่าย หมายถึง มูลค่าต้นทุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดจากการขายสินค้า
  3. กำไรสุทธิ หมายถึง ส่วนของรายได้ที่เกินกว่าต้นทุนขาย
  4. ขาดทุนสุทธิ หมายถึง ส่วนของรายได้ที่ต่ำกว่าต้นทุนขาย
เขียนเป็นสมการได้ดังนี้
รายได้-ค่าใช้จ่าย = กำไร (ขาดทุน) สุทธิ
         งบกระแสเงินสด หมายถึง งบที่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงในกระแสเงินสดของกิจการ โดยบอกถึงที่มาและที่ไปของกระแสเงินสด ประกอบด้วย
         1.กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน คือ เงินสดรับจ่ายจริงที่ได้จากการดำเนินกิจการ โดยไม่สนใจรายได้ที่ยังไม่ได้รับเงินและค่าใช้จ่ายที่ยังไม่ได้จ่ายเงิน
         2.กระแสเงินสดจากกิจกรรมลงทุน คือ กระแสเงินสดรับจ่ายจริงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในการลงทุนของธุรกิจในส่วนของที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ เงินลงทุน หากมีการลงทุนเพิ่ม เช่น ซื้อเครื่องจักร แสดงว่ามีการใช้ไปของเงินสด ในทางตรงข้าม หากมีการขายสินทรัพย์ออกไป จะถือว่าเป็นแหล่งได้มาของเงินสด
         3.กระแสเงินสดจากกิจกรรมการจัดหาเงิน คือ กระแสเงินสดรับจ่ายจริงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในแหล่งที่มาของเงินทุน ทั้งที่เป็นการกู้ยืมระยะสั้น และระยะยาว
การวิเคราะห์งบการเงินที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์
รูปแบบการวิเคราะห์งบการเงินเพื่อใช้ตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์
         1.การวิเคราะห์โดยใช้อัตราส่วนทางการเงิน เป็นการนำรายการต่าง ๆ ในงบดุลและงบกำไรขาดทุนมาหาอัตราส่วนระหว่างกัน แล้วทำให้เกิดความหมายผลลัพธ์ที่ได้เรียกว่า อัตราส่วนทางการเงิน
         2.การวิเคราะห์โครงสร้างงบการเงิน เป็นการวิเคราะห์ที่นำรายการในงบดุลและกำไรขาดทุนมานำเสนอในรูปร้อยละ หรือที่เรียกว่าอัตราส่วนตามแนวดิ่ง
         3.การวิเคราะห์การเติบโตหรือแนวโน้ม เป็นกาวิเคราะห์โดยการนำข้อมูลในงบดุลและงบกำไรขาดทุน ตั้งแต่สองปีขึ้นไปมาเปรียบเทียบกัน
         4.การวิเคราะห์งบกระแสเงินสด เราสามารถดูการเคลื่อนไหวของรายการเงินสด แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ แหล่งที่มาและใช้ไปของเงินสดในกิจกรรมต่างๆ สำหรับช่วงเวลาหนึ่ง
งบกำไรขาดทุน (Profit and loss Statement or Income Statement)
        งบกำไรขาดทุน เป็นงบการเงินที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลของกิจกรรมการดำเนินงานของบริษัทในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่น หนึ่งปี สามเดือน หรือ หนึ่งเดือน โดยกำไรสุทธิเท่ากับรายได้หักด้วยค่าใช้จ่าย โดยรายได้แสดงถึงมูลค่าของสินค้า หรือบริการที่บริษัทให้ในขณะที่ค่าใช้จ่ายแสดงถึงความพยายามที่ใช้เพื่อทำให้เกิดรายได้
1 หลักการบัญชีเกี่ยวกับ รายได้ และค่าใช้จ่าย
        รายได้ สำหรับคนทั่วไป รายได้หมายถึงจำนวนที่บริษัทได้รับจากการขายสินค้าหรือบริการ แต่ความหมายในทางบัญชีจะกว้างกว่านั้นกล่าวคือ รายได้ หมายถึงการเพิ่มขึ้นของประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ ในรอบระยะเวลาบัญชีในรูปของการได้รับหรือการเพิ่มค่าของสินทรัพย์ หรือการลดลงของหนี้สินอันส่งผลให้ส่วนของเจ้าของเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ไม่รวมถึงเงินทุนที่ได้รับจากผู้มีส่วนร่วมในส่วนของเจ้าของ ดังนั้น ในความหมายของการบัญชีรายได้ อาจเกิดมาจากการขายสินค้าหรือบริการการที่สินทรัพย์ที่บริษัทถือไว้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นหรือจากการที่เจ้าหนี้ลดหนี้ให้ในการปรับโครงสร้างหนี้
         ค่าใช้จ่าย หมายถึง การลดลงของประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในรอบระยะเวลาบัญชีจากการจ่ายหรือการลดค่าของสินทรัพย์ หรือการเพิ่มขึ้นของหนี้สินอันส่งผลให้ส่วนของเจ้าของลดลง ทั้งนี้ไม่รวมถึงการแบ่งปันส่วนทุนให้กับผู้มีส่วนร่วมในส่วนของเจ้าของ ดังนั้น ในความหมายของการบัญชี ค่าใช้จ่าย จึงไม่ใช่มีเพียงต้นทุนของสินค้าหรือค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเท่านั้น แต่รวมถึงผลขาดทุนจากการที่สินทรัพย์หรือสินค้าที่บริษัทถือไว้มีมูลค่าลดลง หรือขาดทุนจากไฟไหม้ด้วย
         การรับรู้รายได้ หลักการบัญชีกำหนดให้บริษัทรับรู้รายได้ในงบกำไรขาดทุนเมื่อบริษัทได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์ หรือการลดลงของหนี้สิน และเมื่อบริษัทสามารถวัดค่าของประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตได้อย่างน่าเชื่อถือ รวมทั้งต้องมีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ที่จะเกิดรายการนั้นขึ้น เช่น การเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์สุทธิจากการขายสินค้าหรือบริการ และการลดลงของหนี้สินเนื่องจากเจ้าหนี้ยกหนี้ให้ โดยทั่วไปในการขายสินค้าหรือบริการ เงื่อนไขในการรับรู้รายได้จะครบถ้วนเมื่อบริษัทได้มีการส่งมอบสินค้าหรือบริการให้แก่ลูกค้าแล้ว บริษัทส่วนใหญ่จึงรับรู้รายได้เมื่อมีการส่งมอบสินค้าหรือบริการแล้ว อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการส่งมอบสินค้าหรือบริการแล้วแต่ถ้ายังไม่แน่นอนว่าจะเก็บเงินได้ บริษัทจะต้องไม่รับรู้รายได้เมื่อมีการส่งมอบ
แต่จะรับรู้รายได้เมื่อได้รับชำระเงิน
         การรับรู้ค่าใช้จ่า ย ตามหลักการบัญชี บริษัทควรรับรู้ค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุนเมื่อประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตของบริษัทลดลง เนื่องจากการลดลงของสินทรัพย์หรือการเพิ่มขึ้นของหนี้สิน และบริษัทสามารถวัดค่าของประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตนั้นได้อย่างน่าเชื่อถือ ค่าใช้จ่ายให้รับรู้ในงบกำไรขาดทุนโดยใช้เกณฑ์ความเกี่ยวพันโดยตรงระหว่างต้นทุนที่เกิดขึ้นกับรายได้ที่ได้มาจากรายการเดียวกัน นั่นคือ ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวพันโดยตรงกับรายได้จะต้องรับรู้ไว้ในงวดเดียวกับงวดที่มีการรับรู้รายได้ ตัวอย่างของค่าใช้จ่ายประเภทนี้ ได้แก่ ต้นทุนขาย ค่าใช้จ่าย
        ในการรับประกันสินค้า เมื่อบริษัทคาดว่าจะได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจของรายจ่ายที่เกิดขึ้นในหลายรอบระยะเวลาบัญชี บริษัทจะรับรู้รายจ่ายนั้นเป็นสินทรัพย์ และกระจายมูลค่าของสินทรัพย์เป็นค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุนตามสัดส่วนของประโยชน์ที่ได้รับในงวดนั้นๆ ตัวอย่างของค่าใช้จ่ายประเภทนี้ ได้แก่ ค่าเสื่อมราคาของอาคารและอุปกรณ์
        สำนักงาน ค่าใช้จ่ายล่วงหน้าตัดบัญชีสำหรับรายจ่ายที่มีประโยชน์เฉพาะงวดบัญชีนั้น ก็จะถือเป็นค่าใช้จ่าย
        ของงวดนั้นทันที ตัวอย่างของค่าใช้จ่ายประเภทนี้ ได้แก่ เงินเดือนของพนักงานฝ่ายขายและบริหาร ค่าสาธารณูปโภคของสำนักงาน นอกจากนี้ ถ้ามีรายจ่ายเกิดขึ้นแต่มีความไม่แน่นอนถึงประโยชน์ที่จะได้รับในอนาคต บริษัทต้องรับรู้รายจ่ายเหล่านี้เป็นค่าใช้จ่ายในงวดที่เกิดรายจ่ายนั้นทันที ตัวอย่างของค่าใช้จ่ายประเภทนี้ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายโฆษณา ค่าใช้จ่ายในการวิจัย__
2. รูปแบบและการจำแนกรายการในงบกำไรขาดทุน
        เพื่อประโยชน์ต่อการตัดสินใจของผู้ใช้งบการเงิน การบัญชี กำหนดให้งบกำไรขาดทุนต้องแสดงหัวข้อที่เกี่ยวข้องต่อไปนี้ กำไรจากการดำเนินงานที่ต่อเนื่อง กำไร/ขาดทุนจากการยกเลิกส่วนงาน รายการพิเศษ
         กำไรขาดทุนจากการดำเนินงานต่อเนื่อง เป็นการแสดงรายได้และค่าใช้จ่ายจากกิจกรรมที่บริษัทคาดว่าจะยังคงดำเนินต่อไป แต่ถ้าบริษัทมีความตั้งใจที่จะเลิกดำเนินงานในส่วนงานใดส่วนงานหนึ่งจะต้องแยกแสดง กำไร หรือ
ขาดทุนจากการยกเลิกส่วนงานออกจากการดำเนินงานที่ยังคงดำเนินอยู่ต่อไป
         กำไรหรือขาดทุนพิเศษ เกิดจากเหตุการณ์ซึ่ง (1) ไม่เป็นปกติเมื่อเทียบกับกิจกรรมทั่วไปของบริษัท (2) ไม่เกิดขึ้นเป็นประจำ และ (3) มีจำนวน ที่เป็นสาระสำคัญบริษัทจะต้องแยกแสดงรายการนี้ออกจากการดำเนินงาน ตามปกติเช่นกันผลการดำเนินงานของบริษัทสามารถจะแสดงได้หลายวิธี ดังนั้นรูปแบบของงบกำไรขาดทุนจึงแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าจะมีรายละเอียดมากน้อยแค่ไหนรวมทั้งการจัดลำดับของบัญชีต่าง ๆ ด้วย รายการที่มักปรากฏอยู่ในงบกำไรขาดทุน ได้แก่
         รายได้หรือขาย แสดงถึงรายได้ที่มาจากการดำเนินธุรกิจหลักของบริษัทโดยทั่วไปแล้วคือการขายสินค้าและบริการทั้งหมดที่ขายให้กับลูกค้า รายได้ประเภทนี้จะแสดงด้วยมูลค่าหรือราคาขายก่อนหักค่าใช้จ่ายใดๆ
         รายได้อื่น เป็นรายได้ที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจหลักของบริษัท รายได้ประเภทนี้มักจะแสดงด้วยจำนวนที่ได้รับหรือคาดว่าจะได้รับสุทธิจากต้นทุนที่เกี่ยวข้อง เช่น กำไรจากการขายเงินลงทุน กำไรจากการขายสินทรัพย์
         ค่าใช้จ่าย คือ รายการที่หักออกจากรายได้ ซึ่งเป็นไปตามหลักการรับรู้ค่าใช้จ่ายที่ได้กล่าวไปแล้ว ตัวอย่างเช่น ต้นทุนสินค้าที่ขาย ค่าใช้จ่ายในการขาย และบริหาร เป็นต้น
         ต้นทุนขาย แสดงต้นทุนของสินค้าที่ซื้อมา หรือต้นทุนการผลิตสินค้าสำเร็จรูป หรือต้นทุนค่าบริการ ซึ่งต้นทุนเหล่านี้จะเกี่ยวพันโดยตรงกับรายได้
         ค่าเสื่อมราคา เป็นค่าใช้จ่ายซึ่งบางครั้งก็รวมไว้ในต้นทุนขาย แต่ บางครั้งก็แยกแสดงต่างหาก สำหรับผู้ผลิตสินค้าค่าเสื่อมราคาจะรวมอยู่ในต้นทุนขาย เพราะว่าสินทรัพย์ถาวรโดยเฉพาะโรงงาน และเครื่องจักร ส่วนมากจะใช้สำหรับการ ผลิตสินค้า ดังนั้นค่าเสื่อมราคาที่เกิดขึ้นจากโรงงาน และเครื่องจักรจึงถือเป็นต้นทุน ขายโดยตรงแต่สำหรับผู้ค้าปลีกและผู้ให้บริการจะรวมค่าเสื่อมราคาไว้ในค่าใช้จ่าย ในการขายและบริหารมากกว่าในต้นทุนขาย
         ค่าใช้จ่ายในการขาย และบริหาร จะครอบคลุมรายการที่ไม่เกี่ยวกับการผลิตสินค้า เช่น เงินเดือนพนักงานขาย ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าวัสดุสำนักงาน เป็นต้น
         กำไรขั้นต้น คือ ผลต่างระหว่างรายได้จากการขายกับต้นทุนขายของสินค้าหรือบริการ เป็นการวัดความสำเร็จของบริษัทในการรักษาส่วนต่าง ระหว่างรายได้กับต้นทุนการผลิต และ/หรือ ต้นทุนการซื้อสินค้าหรือบริการ
         กำไรก่อนภาษี สะท้อนถึงกำไรของบริษัทหลังจากหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน บวกรายได้อื่น และหักรายจ่ายที่ไม่ได้เกิดจากการดำเนินงานของบริษัทแล้ว สำหรับบริษัท ที่มีผลการดำเนินงานขาดทุนไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
         กำไรก่อนรายการพิเศษ (หากมีบัญชีรายการพิเศษ) แสดงผลกระทบของภาษีที่มีต่อความสามารถในการทำกำไรปกติ
         กำไรสุทธิ คือ รายได้ส่วนที่มากกว่าค่าใช้จ่าย ถ้าค่าใช้จ่ายมากกว่ารายได้ส่วนที่มากกว่าดังกล่าวจะเรียกว่า ขาดทุนสุทธิ


ที่มา:http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/%E0%B8%87%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%99

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น