แจ้งผู้เยี่ยมชม...บล๊อกนี้ได้จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการบัญชีและการจัดการระหว่างผู้เยี่ยมชม

วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555

แนวการสอบบัญชี


แนวการสอบบัญชี 

วัตถุประสงค์

          แนวทางการปฏิบัติงาน เรื่อง “การจัดทำแนวทางการสอบบัญชี” ที่กำหนดขึ้นนี้ เพื่อให้ผู้สอบบัญชีภาษีอากรใช้เป็นแนวทางประกอบการปฏิบัติงานตรวจสอบและรับรองบัญชีห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามมาตรฐานการปฏิบัติงานที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดไว้ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.122/2545 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติงาน และการรายงานการตรวจสอบและรับรองบัญชี ตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2545

แนวทางการสอบบัญชี

          การจัดทำแนวทางการสอบบัญชีเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนการตรวจสอบ   ดังนั้น ในการจัดทำแนวทางการสอบบัญชี ผู้สอบบัญชีภาษีอากรจึงต้องจัดทำแผนงานการสอบบัญชีโดยรวม  ซึ่งจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับธุรกิจของกิจการที่ตรวจสอบอย่างเพียงพออยู่ในระดับที่ช่วยให้สามารถเข้าใจในเหตุการณ์ รายการ และวิธีปฏิบัติงาน ตลอดจนข้อมูลอื่น ๆ ที่มีความสำคัญต่อการจัดทำงบการเงิน   โดยจะต้องจัดทำแนวทางการสอบบัญชีเป็นลายลักษณ์อักษรและเก็บไว้เป็นหลักฐานตามที่กำหนดไว้ในคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.122/2545ฯ  

ประโยชน์ของแนวทางการสอบบัญชี

          1.1 แนวทางการสอบบัญชีใช้เป็นคำสั่งงานแก่ผู้ช่วยผู้สอบบัญชีภาษีอากร
                 แนวทางการสอบบัญชีจึงต้องระบุถึงวิธีการตรวจสอบที่จะใช้เกณฑ์ในการเลือกรายการมาทดสอบ  วิธีการเลือกตัวอย่างและขนาดของตัวอย่าง  เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการตรวจสอบ  โดยให้ผู้ช่วยผู้สอบบัญชีภาษีอากรปฏิบัติงานตรวจสอบตามวิธีที่ระบุไว้ในแนวทางการสอบบัญชีเพื่อให้ได้มาซึ่งหลักฐานที่ต้องการ 
          1.2 แนวทางการสอบบัญชีใช้ในการควบคุมและบันทึกการปฏิบัติงานตรวจสอบเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการตรวจสอบ   
                 แนวทางการสอบบัญชีจึงต้องระบุถึง
                 (1) วัตถุประสงค์ของการตรวจสอบแต่ละเรื่อง และวิธีตรวจสอบที่จะใช้ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์การตรวจสอบที่กำหนดไว้  
                 (2) ดัชนีกระดาษทำการอ้างอิง ที่อ้างอิงถึงงานตรวจสอบในกระดาษทำการอื่นที่เกี่ยวข้อง  
                 (3) ระยะเวลาที่ประมาณว่าจะใช้ในการตรวจสอบและระยะเวลาที่ใช้ไปจริง   
                 (4) ผู้ตรวจสอบและผู้สอบทาน  พร้อมทั้งวันที่ตรวจสอบหรือสอบทานแล้วเสร็จในแต่ละเรื่อง

การจัดทำแนวทางการสอบบัญชี

          1.  ข้อพิจารณาในการจัดทำแนวทางการสอบบัญชี
               ในการจัดทำแนวทางการสอบบัญชี  ผู้สอบบัญชีภาษีอากรต้องพิจารณาถึงเรื่องต่าง ๆ  ดังนี้
               1.1 วัตถุประสงค์   ขอบเขต  และจังหวะเวลาในการตรวจสอบและรับรองบัญชี 
                      (1) วัตถุประสงค์ของการตรวจสอบและรับรองบัญชี  เพื่อให้ผู้สอบบัญชีภาษีอากรได้มาซึ่งหลักฐานประกอบรายการที่ปรากฏในงบการเงินเพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบว่าถูกต้องตามที่ควรในสาระสำคัญ  และเป็นไปตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป  รวมถึงการตรวจสอบความถูกต้องในส่วนที่เป็นสาระสำคัญทางด้านภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร  
                      (2) ขอบเขตของการตรวจสอบและรับรองบัญชี  การตรวจสอบอาจมีขอบเขตของงานที่แตกต่างกันไปตามลักษณะของการรับงาน และธุรกิจที่ตรวจสอบ  แต่ทั้งนี้จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติงานที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.122/2545ฯ
                      (3) จังหวะเวลาในการตรวจสอบและรับรองบัญชี  ผู้สอบบัญชีภาษีอากรจะต้องกำหนดจังหวะเวลาในการเข้าตรวจสอบ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการตรวจสอบและรับรองบัญชี  ซึ่งอาจขึ้นอยู่กับลักษณะและประเภทของธุรกิจที่ตรวจสอบ  วิธีการตรวจสอบที่ผู้สอบบัญชีภาษีอากรจะใช้  เป็นต้น   
               1.2 ลักษณะและประเภทของธุรกิจที่ตรวจสอบ และปัญหาเฉพาะเรื่องของกิจการ
                      ผู้สอบบัญชีภาษีอากรจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับธุรกิจที่กิจการดำเนินอยู่  ซึ่งได้แก่ ลักษณะของธุรกิจ  ลักษณะการเป็นเจ้าของหรือรูปแบบของกิจการ การบริหารงาน วิธีการปฏิบัติงานของกิจการที่ตรวจสอบ  และปัญหาเฉพาะเรื่องของกิจการ  ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้สอบบัญชีภาษีอากรสามารถระบุและเข้าใจเหตุการณ์  รายการ  วิธีปฏิบัติงาน  และความเสี่ยงที่งบการเงินและบัญชีไม่ได้แสดงอย่างถูกต้องเป็นจริงตามควร  ตลอดจนความเสี่ยงที่กิจการอาจเสียภาษีอากรไม่ถูกต้องครบถ้วน  ซึ่งผู้สอบบัญชีภาษีอากรเห็นว่าอาจมีผลกระทบที่สำคัญต่องบการเงิน  ต่อการเสียภาษีอากรของกิจการ  หรือต่อการปฏิบัติงานตรวจสอบและรับรองบัญชี
               1.3 ประสบการณ์จากการตรวจสอบกิจการนั้น และ/หรือ กิจการอื่นที่ประกอบธุรกิจประเภทเดียวกัน
                      ผู้สอบบัญชีภาษีอากรจะต้องใช้ประสบการณ์จากการปฏิบัติงานตรวจสอบและรับรองบัญชีกิจการในปีก่อน (กรณีที่ได้ปฏิบัติงานให้กับกิจการ) หรือจากการปฏิบัติงานตรวจสอบและรับรองบัญชีกิจการอื่นที่ประกอบธุรกิจประเภทเดียวกัน มาใช้ในการพิจารณาจัดทำแนวทางการสอบบัญชี
               1.4 ความเข้าใจในระบบบัญชีและระบบการควบคุมภายในของกิจการ   
                      ผู้สอบบัญชีภาษีอากรจะต้องเข้าใจในระบบบัญชีและระบบการควบคุมภายในของกิจการอย่างเพียงพอ  โดยจะต้องเข้าใจเกี่ยวกับประเภทของรายการที่สำคัญ  การเกิดขึ้นของรายการ  และการบันทึกรายการและเอกสารที่เกี่ยวข้อง รวมถึงวิธีการควบคุมภายในที่สำคัญ  ซึ่งความเข้าใจในระบบบัญชีและระบบการควบคุมภายในอาจได้มาจาก
                      (1) ประสบการณ์การตรวจสอบที่ผ่านมาเกี่ยวกับกิจการ
                      (2) การสอบถามผู้บริหาร  ผู้ควบคุมงาน  และบุคลากรอื่นในระดับต่าง ๆ ของกิจการ 
                      (3) การศึกษาแผนภูมิระบบบัญชีของกิจการ  (ถ้ามี) 
                      (4) การสังเกตการณ์การปฏิบัติงานและการดำเนินงานของกิจการ 
               1.5 การประเมินความเสี่ยงและความมีสาระสำคัญ
                      (1) ความเสี่ยง   ผู้สอบบัญชีภาษีอากรต้องใช้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจที่ตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็นระบบบัญชี ระบบการควบคุมภายใน ประสบการณ์จากการตรวจสอบกิจการนั้น หรือกิจการอื่นที่ประกอบธุรกิจประเภทเดียวกันมาประเมินความเสี่ยงสืบเนื่อง ความเสี่ยงจากการควบคุมภายในและความเสี่ยงในการตรวจสอบและรับรองบัญชีที่คาดว่าจะเกิดขึ้น รวมถึงการกำหนดเรื่องสำคัญที่ตรวจสอบ โอกาสที่อาจเกิดการแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ หรือโอกาสในการเกิดการทุจริต
                      (2) ความมีสาระสำคัญ  ผู้สอบบัญชีภาษีอากรจะต้องกำหนดระดับความมีสาระสำคัญและประเมินว่าระดับความมีสาระสำคัญที่กำหนดนั้นยังคงมีความเหมาะสมหรือไม่  โดยผู้สอบบัญชีภาษีอากรจะต้องกำหนดระดับความมีสาระสำคัญที่ตนยอมรับได้  เพื่อตรวจสอบการแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญเชิงปริมาณ   การประเมินความมีสาระสำคัญจะช่วยให้ผู้สอบบัญชีภาษีอากรสามารถตัดสินใจได้ว่าควรตรวจสอบรายการใด  ใช้วิธีการเลือกตัวอย่างอย่างไร และต้องใช้วิธีการวิเคราะห์เปรียบเทียบหรือไม่     รวมถึงสามารถเลือกใช้วิธีการตรวจสอบที่คาดว่าจะลดความเสี่ยงได้ 
               1.6 ข้อมูลที่แสดงอยู่ในงบการเงิน
                      ผู้สอบบัญชีภาษีอากรจะต้องศึกษาถึงข้อมูลที่แสดงอยู่ในงบการเงิน ซึ่งหมายความรวมถึง แบบของงบการเงิน  การจัดรายการ และข้อมูลในงบการเงิน  ทั้งนี้ เพื่อพิจารณารายการที่เป็นสาระสำคัญของงบการเงินที่จะตรวจสอบ ซึ่งได้แก่ รายการสินทรัพย์ หนี้สิน ส่วนของผู้เป็นหุ้นส่วน รายได้ และ   ค่าใช้จ่าย  ตลอดจนข้อมูลอื่นในหมายเหตุประกอบงบการเงิน เช่น นโยบายทางบัญชี ภาระผูกพัน หนี้สินที่อาจเกิดขึ้น เป็นต้น
               1.7 สาระสำคัญด้านภาษีอากรของกิจการตามประมวลรัษฎากร
                      ผู้สอบบัญชีภาษีอากรจะต้องศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจของกิจการเพื่อให้ทราบว่า กิจการจะต้องเสียภาษีอากรประเภทใดบ้าง  รวมถึงหน้าที่ที่กิจการจะต้องปฏิบัติตามที่ประมวลรัษฎากรกำหนด เพื่อกำหนดวิธีการตรวจสอบความถูกต้องในส่วนที่เป็นสาระสำคัญด้านภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร  
          2. เนื้อหาสำคัญที่ต้องกำหนดไว้ในแนวทางการสอบบัญชี 
               ผู้สอบบัญชีภาษีอากรจะต้องจัดทำแนวทางการสอบบัญชีเป็นลายลักษณ์อักษรและให้มีรายละเอียดเพียงพอ  ซึ่งต้องประกอบด้วยเนื้อหาสำคัญ ดังนี้
               2.1 วัตถุประสงค์ของการตรวจสอบ  ผู้สอบบัญชีภาษีอากรจะต้องกำหนดวัตถุประสงค์ของการตรวจสอบในแต่ละเรื่องเพื่อให้ได้มาซึ่งหลักฐานประกอบรายการที่ทำการตรวจสอบว่าถูกต้องครบถ้วนเป็นจริงและตรงตามเอกสารประกอบการลงบัญชี  รวมถึงการตรวจสอบความถูกต้องในส่วนที่เป็นสาระสำคัญด้านภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร    
               2.2 ขอบเขตในการตรวจสอบ  ผู้สอบบัญชีภาษีอากรจะต้องกำหนดขอบเขตของการตรวจสอบในแต่ละเรื่องไว้ว่าจะทำการตรวจสอบเพียงใดเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการตรวจสอบ  สำหรับขนาดตัวอย่าง และวิธีการเลือกตัวอย่างที่จะทำการตรวจสอบผู้สอบบัญชีภาษีอากรจะแจ้งไว้ในแนวทางการสอบบัญชีนี้หรือจะแจ้งไว้ในกระดาษทำการที่ทำการตรวจสอบรายการนั้น ๆ ก็ได้  
               2.3 จังหวะเวลาในการตรวจสอบและรับรองบัญชี  ผู้สอบบัญชีภาษีอากรจะต้องกำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสมของการเข้าตรวจสอบในแต่ละเรื่องเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการตรวจสอบที่ได้กำหนดไว้  ซึ่งการกำหนดจังหวะเวลาดังกล่าวอาจขึ้นอยู่กับลักษณะและประเภทของธุรกิจที่ตรวจสอบ  รวมถึงวิธีการตรวจสอบที่ผู้สอบบัญชีภาษีอากรใช้
               2.4 วิธีการตรวจสอบแต่ละเรื่องเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์  ผู้สอบบัญชีภาษีอากรจะต้องใช้ดุลยพินิจในเชิงวิชาชีพในการเลือกวิธีการตรวจสอบที่จะใช้ให้เหมาะสมแก่กรณี เช่น
                      (1) การวิเคราะห์เปรียบเทียบ 
                      (2) การตรวจนับ
                      (3) การขอยืนยันข้อมูลจากบุคคลภายนอก
                      (4) การสังเกตการณ์
                      (5) การตรวจสอบเอกสารหลักฐาน
                      (6) การตรวจสอบการคำนวณ 
                      (7) การสอบถาม
                            แต่อย่างไรก็ตามวิธีการตรวจสอบที่ผู้สอบบัญชีภาษีอากรเลือกใช้ในการตรวจสอบและรับรองบัญชีของแต่ละกิจการ จะต้องรวมถึง การขอข้อมูลจากธนาคาร  การขอยืนยันยอดลูกหนี้เจ้าหนี้ การขอยืนยันการออกใบกำกับภาษี  การเข้าสังเกตการณ์การตรวจนับสินค้าคงเหลือ และการตรวจสอบเอกสารสิทธิต่างๆ  เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยไม่สามารถใช้วิธีการดังกล่าวได้ ผู้สอบบัญชีภาษีอากรต้องใช้วิธีอื่นที่ให้ความเชื่อมั่นเช่นเดียวกัน และอยู่ในวิสัยที่สามารถกระทำได้
               2.5 ดัชนีกระดาษทำการที่  อ้างถึง  เวลาที่ประมาณว่าจะใช้ในการตรวจสอบและเวลาที่ใช้ไปจริงในภายหลัง นอกจากนี้ผู้ตรวจสอบและผู้สอบทานต้องลงลายมือชื่อพร้อมทั้งวันที่ที่ตรวจสอบเสร็จในแต่ละเรื่องด้วย

การทบทวนแนวทางการสอบบัญชี

          ผู้สอบบัญชีภาษีอากรต้องทบทวนแนวทางการสอบบัญชีตามความจำเป็นในระหว่างการตรวจสอบ  เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงหรือได้รับผลที่ไม่คาดหมายจากการตรวจสอบ โดยผู้สอบบัญชีภาษีอากรจะต้องบันทึกเหตุผลของการเปลี่ยนแปลงแนวทางการสอบบัญชีไว้ด้วย

หมายเหตุ แนวทางการสอบบัญชีถือเป็นส่วนหนึ่งของกระดาษทำการและเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้สอบบัญชี ภาษีอากร  ซึ่งผู้สอบบัญชีภาษีอากรจะต้องนำมาส่งมอบ และชี้แจงเกี่ยวกับการปฏิบัติงานตรวจสอบและรับรองบัญชีต่อเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบการปฏิบัติงานของกรมสรรพากร  

วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

ระบบบัญชี


ระบบบัญชี (The Function of Accounting)

            ระบบบัญชี หมายถึง ระบบการประมวลผลข้อมูลทางการบัญชี และเป็นการนำผลลัพธ์ที่ได้ไปใช้ ประโยชน์ในเชิงบริหาร
            ระบบบัญชีเป็นระบบที่รองรับรายการต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการต่างๆ ทางธุรกิจ ซึ่งท่านสามารถกำหนดข้อมูลพื้นฐานทางบัญชีได้ตามโครงสร้างของบริษัทและผังบัญชีของบริษัท ซึ่งรายการทางบัญชีจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติเมื่อมีการทำธุรกรรมต่างๆ ในแต่ละระบบงาน และระบบบัญชีจะรองรับการคำนวณสินค้าคงคลัง

1. ระบบซื้อ (Purchase System)
-ดำเนินธุรกรรมในระบบซื้อ เช่น รายงานภาษีซื้อ, รับสินค้า / รับใบแจ้งหนี้, ใบลดหนี้ (ส่งคืนสินค้า)
-ระบบจะตรวจสอบเครดิตของลูกค้าให้อัตโนมัติเมื่อมีการทำธุรกรรมกับลูกค้ารายนั้นๆ
-ระบบจะคำนวณหาประมาณการวันที่ ที่จะครบกำหนดชำระเงินให้โดยอัตโนมัติเมื่อมีสั่งซื้อสินค้า
-มีระบบจดจำราคาสินค้าของแต่ละผู้ขาย

2. ระบบขาย (Sale System)
- ดำเนินธุรกรรมในระบบขาย เช่น รายงานภาษีขาย, ทำการออกใบกำกับภาษี/สำเนาบิลส่งสินค้า/ใบแจ้งหนี้/ใบเสร็จรับเงิน, ใบลดหนี้, ใบสั่งของชั่วคราว
-ระบบจะตรวจสอบเครดิตของลูกค้าให้อัตโนมัติเมื่อมีการทำธุรกรรมกับลูกค้ารายนั้นๆ
-ระบบจะคำนวณหาประมาณการวันที่ ที่จะครบกำหนดชำระเงินให้โดยอัตโนมัติเมื่อมีสั่งซื้อสินค้า
- มีระบบจดจำราคารวมสินค้าของแต่ละลูกค้า
-กำหนดอัตราภาษีได้เอง
- กำหนดราคาขาย ตาม จำนวนสินค้าที่ขายในบิลนั้นๆได้

3. ระบบลูกหนี้ (Account Receivable System)
            สามารถตรวจสอบดูความเคลื่อนไหว และสถานะของเอกสารสำคัญในระบบลูกหนี้ได้เช่น Invoice ขาย ใบลดหนี้ สามารถเก็บข้อมูลรายละเอียดเช็คของลูกค้าแต่ละคนเพื่อใช้ในครั้งต่อไปได้ รับชำระได้ทั้งเงินสด , เช็ค

4. ระบบเจ้าหนี้ (Account Payable System)
            สามารถตรวจสอบดูความเคลื่อนไหว และสถานะของเอกสารสำคัญในระบบเจ้าหนี้ได้เช่น Invoice ซื้อ ใบลดหนี้ สามารถเก็บข้อมูลรายละเอียดเช็คของเจ้าหนี้แต่ละคนเพื่อใช้ในครั้งต่อไปได้ รับชำระได้ทั้งเงินสด , เช็ค

5. ระบบสินค้าคงคลัง (Inventory System)
            สามารถค้นหาข้อมูลตามรหัสสินค้า หรือชื่อสินค้า และมี Look up ในกรณีที่จำรหัสไม่ได้ กำหนด ราคาขาย ได้ไม่จำกัด หรือใช้ ราคาล่าสุด ก็ได้

ที่มา:http://cpe.kmutt.ac.th/previousproject/2005/19/account_infomation.htm

7 วิธีที่นักจัดซื้อควรรู้

 7 วิธีที่นักจัดซื้อควรรู้ 


1. ซื้อให้ได้คุณภาพความต้องการ (Right Quality)    หมายถึง ข้อกำหนดคุณสมบัติ ที่ต้องการของหน่วยงานต่าง ๆ ขององค์กร หรือคุณภาพที่ได้นับจากการใช้งานตามที่ต้องการนอกจากนี้ นักจัดซื้อจำเป็นจะต้องมีส่วนร่วมในการช่วยกำหนดคุณสมบัติของสิ่งที่ต้องการด้วย เพื่อให้สามารถจัดหาและเปรียบเทียบคุณสมบัติได้อย่างถูกต้อง เช่น หน่วยงานสาขาจังหวัดจันทบุรี ต้องการเตาอบไฟฟ้าโดยมีการร่วมข้อกำหนดคุณสมบัติ ที่ต้องการระหว่างฝ่ายจัดซื้อกับสาขาจังหวัดจันทบุรีว่าจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้ สีขาว มี Hot plate 2 หัวด้านบนเตา ความจุ 42 ลิตร 3,400วัตต์ ตั้งเวลาได้ 60 นาที พร้อมระบบเตือนด้วยเสียง ให้ความร้อน 100-250 c  ขนาด กว้าง 62* ยาว 45.2* สูง 43.2 Cm ได้รับเครื่องหมายมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.)  เป็นต้น อย่างไรก็ดี การระบุคุณสมบัติไม่ควรระบุตรายี่ห้อไป เนื่องจากอาจเกิดข้อครหาได้ว่าฝ่ายจัดซื้อและหน่วยงานที่ต้องการใช้นั้นมีการทุจริตหรือมีการล็อคสเปก

                 2. ซื้อสินค้าให้ได้ปริมาณ จำนวน ตามความต้องการ (Right Quantity)  หมายถึง จำนวนสิ่งของที่บริษัทต้องการ โดยเพื่อลดปัญหาและค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากการสั่งซื้อ หรือจัดส่งปริมาณที่ไม่เป็นไปตามความต้องการ นักจักซื้อจะต้องคำนึงการวางแผนในการสั่งซื้อ การพยากรณ์ความต้องการในอนาคต การสั่งซื้อจากต่างประเทศ สินค้าหรือวัตถุดิบที่เป็นไปตามฤดูกาล  อนึ่ง บางครั้งผู้ขายเสนอส่วนลดที่ผันแปรตามปริมาณเพื่อทำให้น่าสนใจ นักจักซื้อควรตรวจสอบด้วยว่า คลังสินค้าขององค์กรมีเนื้อที่ปริมาณในการจัดเก็บเพียงพอหรือไม่  ไม่เช่นนั้น จะกลายเป็นต้นทุนจม (Sunk Cost)

                3. ส่งสินค้าให้ได้ในเวลาที่ต้องการ (Right Time) หมายถึง การกำหนดเวลาในการส่งสินค้า/วัตถุดิบ ซึ่งขั้นตอนนี้ มีความสำคัญในกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร หากมีการส่งสินค้า/วัตถุดิบช้ากว่ากำหนดที่ต้องการอาจส่งผลทำให้โครงการ กระบวนการผลิตหยุดซะงัก ดังนั้น นักจัดซื้อจำเป็นจะต้องระบุเวลาในการจัดส่งที่แน่นอน  เช่น ให้มาส่งมอบให้วันจันทร์ ที่ 2 พฤศจิกายน 2552 เวลา 15.30 ที่คลังสินค้า หัวหมาก เพื่อกำหนดการตรวจเช็ดและจะนำวัตถุดิบเข้าสู่กระบวนการผลิตในเวลา 16.30 เป็นต้น


                4. การซื้อสินค้าที่ได้ราคายุติธรรมเหมาะสม (Right Price) หมายถึง การซื้อของให้ได้ราคาถูก พึงอย่าลืมว่าราคาซื้อที่ถูกเป็นเพียงปัจจัยเบื้องต้นที่เห็นชัดเจน แต่จะต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายอย่างที่มีผลกระทบต่อต้นการดำเนินงานขององค์กรด้วย เช่น คุณภาพ ความคุ้มค่าของสินค้า/วัตถุดิบ เป็นต้น


                5. ส่งสินค้าได้ตามสถานที่ที่ต้องการ (Right Place) หมายถึง การระบุสถานที่ในการจัดส่ง เพื่อให้ได้สินค้า/ วัตถุดิบที่ถูกต้องตามคุณภาพ ปริมาณที่ครบถ้วน เวลาที่ต้องการกับความต้องการ ราคาที่เหมาะสม ซึ่งองค์กรบางแห่งให้ผู้ขายส่งสินค้า/วัตถุดิบตามจำนวนที่แต่ละแห่งต้องการ เช่น ศุนย์กระจายสินค้า คลังสินค้าแต่ละแห่ง เป็นต้น โรงงานตามเวลาสถานที่แต่ละแห่งเพื่อจะได้ไม่ต้องมีคลัังสินค้าหรือสถานที่จัดเก็บวันตถุดิบอีกด้วย

                6. ซื้อสินค้าจากแหล่งขายที่เชื่อถือได้ (Right Source) หมายถึง การตรวจสอบประวัติผู้ขายเพื่อพิจารณาความน่าเชื่อถือ โดยดูได้จากกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง ตลากหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยสมาคม/ชมรมต่างๆ หรือจากเว็บไซต์ของแหล่งขาย เป็นต้น เพื่อดูว่าความมีชื่อเสียง ความมั่นคงในการดำเนินการของผู้ขาย รวมทั้งงบการเงินของบริษัทที่มีความสามารถในการสั่งซื้อ-สั่งจ่าย หรือกระแสเงินหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจต่อกัน

                7. คุณภาพการบริการเป็นที่น่าเชื่อถือ (Right Service) หมายถึง การให้บริการที่สามารถตอบสนองความต้องการได้ตรงตามความต้องการหรือเกินความคาดหวังที่ก้อให้เกิดความพึงพอใจจากการซื้อผลิตภัณฑ์จากผู้ขาย เช่น ระยะเวลาการรับประักันการบริการหลังการขาย ซ่อมและเปลี่ยนอะไหล่ฟรี มีอุปกรณ์ให้ใช้ทดแทนขณะซ่อม หรือส่งสินค้าให้บ่อยครั้งได้ เป็นต้น

รายได้รับล่วงหน้า

รายได้รับล่วงหน้า  ( Deferred  Income )
            รายได้รับล่วงหน้า  คือ รายได้ที่กิจการได้รับเงินมาในงวดบัญชีปัจจุบัน  แต่ได้รวมรายได้ของงวดบัญชีปีหน้าส่วนหนึ่งไว้ด้วย  ซึ่งจะให้ประโยชน์หรือบริการในงวดบัญชีปีหน้า  โดยกิจการจะทำการปรับปรุงรายการนี้ ณ วันสิ้นงวด  ซึ่งมีวิธีบันทึกบัญชีได้ 2 วิธี ดังนี้ 

ตัวอย่าง 
            เมื่อวันที่  1  พฤศจิกายน  กิจการได้รับค่าเช่าจำนวน  12,000 บาท  สำหรับระยะเวลา  6  เดือน
บันทึกเป็นรายได้
บันทึกเป็นหนี้สิน
ณ วันที่ 1  กิจการบันทึกเป็นรายได้ค่าเช่า 
เดบิต  เงินสด                       12,000 
     เครดิต  รายได้ค่าเช่า                         12,000
กิจการบันทึกเป็นรายได้ค่าเช่ารับล่วงหน้า 
เดบิต  เงินสด                         12,000 
    เครดิต   รายได้ค่าเช่ารับล่วงหน้า  12,000
ธค. 31  ปรับปรุงบัญชีรายได้ค่าเช่าที่รับมา 6 เดือน แต่เป็นรายได้ของปีหน้า 4 เดือน โดย


เดบิต  รายได้ค่าเช่า               8,000 
     เครดิต  รายได้ค่าเช่ารับล่วงหน้า       8,000
    (  12,000  x  4/6  =  8,000   )
ธค. 31  ปรับปรุงบัญชีค่าเช่ารับล่วงหน้า 6 เดือน ให้เป็นรายได้ค่าเช่าปีปัจจุบัน  2  เดือน  โดย 


เดบิต  รายได้ค่าเช่ารับล่วงหน้า    4,000 
     เครดิต  รายได้ค่าเช่า                         4,000 
            (  12,000   x   2/6  =    4,000  )

   2,000.-                   2,000.-                         2,000.-                    2,000.-                      2,000.-                      2,000.-
   1  พ.ย.                     1  ธ.ค.                          1  ม.ค.                       1 ก.พ.                        1  มี.ค.                       1  เม.ย.

หลักการและเหตุผล
                                                           
-  กรณีบันทึกเป็นรายได้ 
                     กิจการได้รับค่าเช่าจำนวน  12,000 บาท  สำหรับระยะเวลา  6  เดือน  ดังนั้น ค่าเช่า    จึงคำนวณได้เดือนละ  2,000 บาท  ซึ่งรายได้ที่เกิดขึ้นในงวดปัจจุบันจะคำนวณจากวันที่  1  พ.ย.  -  31  ธ.ค.  รวมเป็น  2  เดือน  เป็นเงินเพียง  4,000 บาท  แต่กิจการบันทึกไว้  12,000 บาท  ดังนั้นจึงต้องปรับปรุงรายการ ณ วันที่  31 ธ.ค.  รายได้ค่าเช่าออกไป  8,000 บาท  จึงจะทำให้รายได้ค่าเช่าตรงกับความเป็นจริง คือ  4,000 บาท
                                                                     บัญชี รายได้ค่าเช่า                                               เลขที่   401
ธ.ค. 31   รายได้ค่าเช่ารับล่วงหน้า    8,000
พ.ย. 1     เงินสด                                   12,000
                                    ( 4,000 )
           

                 -  กรณีบันทึกเป็นหนี้สิน 
                           กิจการเกิดรายได้ค่าเช่าขึ้นแล้ว  2  เดือน  แต่กิจการไม่ได้บันทึกเป็นรายได้ค่าเช่า 
กลับบันทึกเป็นรายได้ค่าเช่ารับล่วงหน้า ( หนี้สิน )  จำนวน  6  เดือน   ดังนั้น ณ วันที่  31  ธ.ค.  กิจการต้องบันทึกรายได้ที่เกิดขึ้นก่อน  คือ  รายได้ค่าเช่า  จำนวน  4,000 บาท  ซึ่งคำนวณจากระยะเวลา  1 พ.ย. – 31 ธ.ค.  รวม  2  เดือน  ๆ ละ  2,000 บาท   แล้วให้เราตัดบัญชีหนี้สินลง  เนื่องจากเป็นรายการรับล่วงหน้าเพียง  4  เดือน  เป็นเงิน  8,000 บาท   จึงเกิดรายได้ค่าเช่าตรงกับ 
ความเป็นจริง คือ  4,000 บาท  และรายได้ค่าเช่ารับล่วงหน้า  8,000 บาท
                                                              บัญชี รายได้ค่าเช่ารับล่วงหน้า                                        เลขที่   203
ธ.ค. 31   รายได้ค่าเช่า                         4,000
พ.ย. 1     เงินสด                                   12,000
                             ( 8,000 )



รูปแบบการเป็นผู้นำ

รูปแบบการเป็นผู้นำ (Leadership Styles)



ผู้นำแบบสั่งการ – Directing Style

เป็นรูปแบบผู้นำที่มุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับงานเป็นหลัก มุ่งเน้นผลผลิตและประสิทธิภาพงาน เข้าควบคุม สั่งการ ผลักดันให้เกิดผล ควบคุมการตัดสินใจ แจกแจงบทบาท กำหนดกฎเกณฑ์ วิธีปฏิบัติงานและความคาดหวังที่ชัดเจน มีมาตรการติดตามผลการปฏิบัติงานอย่างเข้มงวด จะไม่ให้ความสำคัญด้านความสัมพันธ์กับสมาชิกในทีมมากนัก
เหมาะกับสมาชิกในทีมที่มีความพร้อมน้อย มีข้อจำกัดด้านทักษะความสามารถ และยังขาดความมุ่งมั่นใส่ใจในงาน จึงต้องให้คำชี้แนะขั้นตอนและวิธีการทำงานที่ชัดเจน ใกล้ชิด

ผู้นำแบบชี้แนะ – Guiding Style

เป็นรูปแบบผู้นำที่ให้ความสำคัญกับทั้งผลงานและขวัญกำลังใจ มีการกำกับการบริหารอย่างเข้มข้น ในขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้สมาชิกในทีมมีความรู้สึกผูกพันกับทีมและมีส่วนร่วมในการตั้งเป้าหมายและสร้างกระบวนการทำงาน เปิดช่องทางให้สมาชิกได้เสนอความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ คอยให้คำปรึกษาแนะนำกับทีม เสริมสร้างความมั่นใจในความสามารถของทีมพร้อมทั้งตั้งคำถามที่ท้าทายศักยภาพของทีมติดตามผลการปฎิบัติงาน มุ่งเน้นผลผลิตและให้รางวัลในผลสำเร็จ
เหมาะกับสมาชิกในทีมที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจ แต่มีข้อจำกัดด้านทักษะความสามารถอยู่บ้าง

ผู้นำแบบมีส่วนร่วม – Participating Style

เป็นรูปแบบผู้นำที่ให้ความสำคัญกับคนและความรู้สึกของคนเป็นหลัก มีส่วนร่วมในฐานะสมาชิกคนหนึ่งไม่เน้นการควบคุมสั่งการ พอใจที่จะให้สมาชิกในทีมมีความสุขกับงานรักษาสัมพันธภาพในทีม สร้างบรรยากาศการทำงานที่เป็นมิตร อบอุ่น คอยชี้แนะ ให้กำลังใจ รับฟังและอำนวยความสะดวก กระตุ้นให้สมาชิกในทีมประชุมอภิปรายร่วมกัน ตัดสินใจและแบ่งปันความรับผิดชอบร่วมกัน คอยติดตามผลการปฎิบัติงานและเปิดรับข้อแนะนำ
เหมาะกับสมาชิกในทีมที่มีทักษะความสามารถสูง แต่อาจขาดความมั่นใจ สับสน หรือขาดแรงจูงใจในการทำงาน

ผู้นำแบบกระจายอำนาจ – Empowering Style

เป็นรูปแบบผู้นำที่ให้ความเชื่อถือ ไว้วางใจในฝีมือ ความรู้ความสามารถตลอดจนความรับผิดชอบของสมาชิกในทีม จะกระจายความรับผิดชอบ ให้อิสระในการทำงาน การตัดสินใจต่างๆในขอบเขตที่ตกลงร่วมกัน เข้าไปยุ่งเกี่ยวเท่าที่จำเป็น เข้าแทรกแซงจัดการกับปัญหาหรือข้อขัดแย้งต่อเมื่อมีสิ่งผิดพลาดเกิดขึ้น ให้การสนับสนุนเมื่อได้รับการร้องขอ คอยตามดูผลงานอยู่ห่างๆ เป็นรูปแบบผู้นำที่ไม่ต้องเน้นทั้งผลงานและความสัมพันธ์มากนัก

7 หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกพนักงาน


7 หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกพนักงาน



พนักงานคือผู้ที่อยู่เบื้องหลังม่านความสำเร็จของบริษัทมาโดยตลอด เรียกได้ว่าบริษัทไหนมีพนักงานดีก็มีชัยไปแล้วกว่าครึ่ง พนักงานจึงกลายเป็นบุคคลที่มีความสำคัญไม่ต่างจากลูกค้าของกิจการเลยก็ว่าได้ ทุกบริษัทจึงต่างแสวงหาพนักงานที่ดีและมีคุณภาพมากที่สุดเพื่อดึงเข้ามาร่วมงานกับองค์กรของตนเอง โดยในองค์กรจะมีแผนกสรรหาคัดเลือกบุคคลเข้าเป็นพนักงาน เราลองมาดูกันว่า แผนกสรรหาคัดเลือกใช้หลักเกณฑ์อะไรบ้างในการคัดเลือกพนักงาน 

1.ความรู้
อย่างแรกที่นำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินรับพนักงานก็คือ “ความรู้” ซึ่งความรู้ในที่นี้จะต้องเป็นความรู้ที่พนักงานคนดังกล่าวรู้และมีความเชี่ยวชาญในสาขานั้นจริงๆ ไม่ใช่รู้แบบน้ำเต้าปูปลาอันหรือรู้แบบฉาบฉวยและไม่สามารถนำมาใช้ปฏิบัติงานได้จริง ใบปริญญาบัตรจึงถือเสมือนเป็นหนึ่งในสิ่งที่จะแสดงถึงคุณวุฒินั้นๆ ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการใช้วิธีการตรวจวัดโดยให้ทำแบบทดสอบหรือการทดลองงานก็ได้ เพื่อให้สามารถวัดถึงระดับความรู้ ความสามารถ

2.ประสบการณ์

เป็นอีกหนึ่งหลักเกณฑ์ที่มักจะนำมาใช้เป็นบรรทัดฐานในการคัดเลือกพนักงาน ซึ่งผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำงานมักจะมีไหวพริบและสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆได้ดีกว่าคนที่ยังไม่มีประสบการณ์การทำงาน บ้างก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมาเสียเวลานั่งสอนวิธีการทำงานให้ใหม่ทั้งหมด บ้างก็ต้องสอนวิธีการทั้งหมด แต่ด้วยความที่มีประสบการณ์ จึงเป็นเสมือนสิ่งรับรองว่า การเรียนรู้งานจะเป็นไปได้รวดเร็วกว่าผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ 

3.ผลการศึกษา

ผลการศึกษาก็เป็นสิ่งที่มักจะนำมาใช้ประกอบการพิจารณา เพราะเป็นการวัดระดับความรู้ของผู้ที่มาสมัครในเบื้องต้นว่ามีมากเพียงไรและความเหมาะสมกับการทำงานในบริษัทหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันก็พิจารณาลงลึกถึงในรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับกิจการมากกว่าจะตัดสินจากเกรดเฉลี่ยรวม เพราะแต่ละคนย่อมจะมีวิชาที่ถนัดแตกต่างกันออกไป ซึ่งบางคนอาจจะมีความสามารถในรายวิชาที่ทางบริษัทต้องการจริง แต่อาจจะมีรายวิชาที่ไม่เกี่ยวข้องมาทำให้เกรดเฉลี่ยไม่สูงเท่าที่ควร 

4.สถาบันการศึกษา

ข้อนี้ตัวข้าน้อยก็ไม่ชอบ เพราะสถาบันไม่ว่าจะชื่อไหนก็คือสถานที่ที่ซึ่งประสิทธิ์ประศาสตร์วิชาความรู้ด้วยกันทั้งสิ้น แต่ในสังคมไทยเองยังติดเรื่องอยู่นี้มากนัก เมื่อไม่นานก็มีการจัดอันดับมหาวิทยาลัย ทำให้นักศึกษาหลายๆ คนหวั่นวิตก เพราะไม่มีใครอยากอยู่ศึกษาในมหาวิทยาลัยที่ไม่ถึงเกณฑ์ จึงเป็นอีกหลักเกณฑ์ที่ทางบริษัทนำมาพิจารณา เพราะหลายองค์กรมีการสร้างวัฒนธรรมเครือข่าย ระหว่างพี่-น้อง แต่บางองค์กร มีการมองไปที่เรื่องของสาขาที่แตกต่างกันมากกว่า เช่น สถาบัน A มีชื่อเสียงในเรื่องของวิศวกรรม แต่สถาบัน B มีชื่อเสียงในเรื่องการบัญชี ในขณะเดียวกัน เป็นต้น

5.ความซื่อสัตย์และความรับผิดชอบ
ความซื่อสัตย์และความรับผิดชอบถือเป็นหลักเกณฑ์ที่สำคัญมากในการตรวจสอบพิจารณาคัดเลือกพนักงานเข้าสู่บริษัท เพราะคนที่มีความซื่อสัตย์และความรับผิดชอบทั้งต่อตัวเองและผู้อื่นจะเป็นคนที่มีความจริงใจกับบริษัทและผู้ร่วมงานมาก ซึ่งคนที่มีลักษณะดังที่กล่าวมานี้ทั้งสอง ประการจะเป็นผู้ที่มีมาตรฐานในการทำงานสูงและผู้ประกอบการสามารถไว้วางใจให้เขาดูแลในเรื่องที่สำคัญๆของธุรกิจแทนได้ในบางโอกาสด้วย โดยความซื่อสัตย์และความรับผิดชอบนี้อาจจะเป็นเรื่องที่ตรวจสอบได้ค่อนข้างยากในช่วงของการสัมภาษณ์งาน จึงเป็นอีกข้อหนึ่งที่พนักงานควรแสดงให้เห็นในช่วงทดลองงาน

6.ลักษณะบุคลิกภาพ
การจะคัดเลือกให้ใครสักคนเข้ามาร่วมงานกับทางบริษัท จะมีการพิจารณาในเรื่องของบุคลิกภาพควบคู่กันไปด้วยเสมอ ซึ่งบุคคลิกภาพตามที่กล่าวมาไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นคนที่หน้าตาดีแต่ขอให้มีมารยาททั้งการพูดและการปฏิบัติ มีกาละเทศะ สะอาด แต่งตัวดูดี น่าเชื่อถือ เป็นต้น (มิฉะนั้นคนหน้าตาไม่ดีเยี่ยงข้าน้อย จะหางานทำไม่ได้ ถ้าบริษัทเลือกแต่คนหน้าตาเทพ ... อิอิอิ)

7.มีมนุษย์สัมพันธ์
เป็นหลักเกณฑ์ที่ตรวจสอบก่อนที่จะรับพนักงานแต่ละครั้งกันอยู่บ่อยๆ สำหรับเรื่องของมนุษยสัมพันธ์ในแต่ละบุคคล เพราะว่าการทำงานในบริษัทเป็นลักษณะของการทำงานในรูปแบบทีมเวิร์คที่จะต้องอาศัยการพึ่งพาติดต่อระหว่างกันภายในองค์กรอยู่ตลอด ถ้าบริษัทไหนมีพนักงานที่มีมนุษยสัมพันธ์แย่ระบบการทำงานก็จะพังไปทั้งระบบ ซึ่งการตรวจสอบด้านมนุษยสัมพันธ์อาจจะอาศัยช่วงการทดลองงาน (ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 3 - 6 เืดือน)


ที่มา:http://www.jobbkk.com/th/relax/webboard/viewtopic.php?id=19470

การเลือกทำเลที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม


 การเลือกทำเลที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม  
(Selection  of  Plant  Location)


                   การเลือกทำเลที่ตั้งเป็นโรงงานอุตสาหกรรม  เป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้บริหารหรือ ผู้ประกอบการ  เพราะการค้นหาว่าจะตั้งโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ที่ใดที่หนึ่ง  จะมีผลโดยตรงต่อค่าใช้จ่ายทั้งที่เป็นต้นทุนคงที่ และตันทุนแปรผัน  ซึ่งผลกำไรจากบริษัทจะได้รับผลกระทบทันทีหากตัดสินใจเลือกที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมไม่เหมาะสม  แต่เมื่อมีความจำเป็นจะต้องเลือกสถานที่ตั้งโรงงานใหม่  ผู้บริหารหรือผู้ประกอบการก็จะต้องตัดสินใจวางแผนเลือกที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการดำเนินการ
ทำเลที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม
                   ทำเลที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม  (Plant  Location)  หมายถึง  สถานที่ที่สำหรับประกอบกิจกรรมทางธุรกิจขององค์การ  เช่น  โรงงาน  โกดังสินค้า  สำนักงานใหญ่ หรือสาขา  เป็นต้น    ที่ตั้งโรงงานจะมีความสำคัญต่อการผลิตและการดำเนินการ  การเลือกที่ตั้งจึงเป็นกระบวนการในการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูล  เพื่อกำหนดสถานที่ที่ธุรกิจสามารถดำเนินงานได้สะดวก และมีประสิทธิภาพสูงสุด  โดยพิจารณา  ต้นทุน  รายได้  ความสัมพันธ์ที่มีต่อบุคลากร  ลูกค้า  ตลาด  และวัตถุดิบ  ตลอดจนสภาพแวดล้อมในการดำเนินงาน
                   การเลือกทำเลที่ตั้งโรงงาน เป็นการตัดสินใจที่สำคัญของธุรกิจ  เนื่องจากการลงทุนในแต่ละครั้งจะมีปริมาณสูงและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายหลังการกำหนดที่ตั้งโรงงาน  จะมีค่าใช้จ่ายและค่าเสียโอกาสเกิดขึ้นซึ่ง  ณัฎฐพันธ์  เขจรนันทน์  (2542 : 97)  เสนอไว้ดังนี้

                   1.  การลงทุน  (Investment)  ปกติการลงทุนในสถานที่  อาคาร  เครื่องจักร  และ อุปกรณ์  จะต้องใช้เงินลงทุนสูงและเคลื่อนย้ายยาก  ซึ่งผู้บริหารต้องตัดสินใจเกี่ยวกับการเช่าหรือซื้อขาดว่าทางเลือกใดมีความเหมาะสมกว่ากัน
                   2.  ต้นทุนการบริหาร  (Management  Cost)   การตัดสินใจเลือกที่ตั้งมีผลกระทบต่อการจัดการทางการเงินและต้นทุนการดำเนินงาน  เนื่องจากที่ตั้งแต่ละแห่งมีต้นทุนที่แตกต่างกัน  เช่น  ค่าขนส่งสินค้าและวัตถุดิบ  การติดต่อสื่อสาร  และค่าจ้างแรงงาน  เป็นต้น
                   3.  การขยายกิจการ  (Growth)  การขยายตัวในอนาคตขององค์การทั้งด้านการดำเนินงานหรือตลาด  ซึ่งผู้บริหารจะต้องพิจารณาข้อเปรียบเทียบของแต่ละทางเลือก  เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาความคับแคบในการดำเนินงานหรือให้บริการในอนาคต  แต่ถ้าธุรกิจจัดเตรียมพื้นที่มากเกินไปจะเป็นการลงทุนที่ไม่มีผลตอบแทน  ตลอดจนก่อให้เกิดต้นทุนที่สูงในการดำเนินงาน
                   4.  ความได้เปรียบในการแข่งขัน  (Competitive  Advantage)  เป็นประเด็นสำคัญในการตัดสินใจของผู้บริหาร  ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลวของธุรกิจ  ที่ตั้งที่เหมาะสมช่วยให้ต้นทุนการดำเนินงานของธุรกิจต่ำ  ทั้งต้นทุนทางตรงและทางอ้อม  ตลอดจนที่ตั้งที่เหมาะสมช่วยดึงดูดผู้บริโภค  ซึ่งจะช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับธุรกิจ

ปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกที่ตั้งโรงงาน
                   ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกที่ตั้งโรงงานมีอยู่มากมาย  อย่างไรก็ตามมักปรากฏอยู่เสมอว่า มีเพียงปัจจัยไม่กี่อย่างที่มีผลสำคัญต่อการตัดสินใจ   ตัวอย่างเช่น  ในกรณีของโรงงานผลิตสินค้า  ปัจจัยที่มีผลอย่างสำคัญต่อการเลือกที่ตั้งประกอบด้วย  ความพร้อมทางด้านพลังงาน  เส้นทางการขนส่ง  และแหล่งวัตถุดิบ   ตัวอย่างเช่น  โรงงานอุตสาหกรรมเหล็กกล้าต้องอยู่ใกล้แหล่งพลังงานคือไฟฟ้า  โรงงานปูนซีเมนต์ต้องอยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบ  เป็นต้น   นอกจากนี้เส้นทางการขนส่งทั้งทางน้ำ  บก  และอากาศ  ก็จะมีผลอย่างสำคัญต่อต้นทุนการผลิตและจำหน่าย
                   อย่างไรก็ตาม  ปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกที่ตั้งของโรงงาน  อาจแบ่งได้เป็น  2  กลุ่ม  คือ  ปัจจัยที่เกี่ยวกับทรัพยากรการผลิต  และปัจจัยที่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อม

                   ปัจจัยที่เกี่ยวกับทรัพยากรการผลิต  ปัจจัยที่เกี่ยวกับทรัพยากรการผลิต  ประกอบด้วย  วัตถุดิบ  ตลาดสินค้า  แรงงาน  ที่ดิน  การขนส่ง  แหล่งพลังงาน  และสาธารณูปโภคต่าง ๆ
                   วัตถุดิบ  (Material)  การตัดสินใจเลือกที่ตั้งโรงงานที่ใกล้แหล่งวัตถุดิบมีเหตุผลหลัก  คือเพื่อลดต้นทุนการผลิตอันเกิดจากการขนส่งวัตถุดิบ  อุตสาหกรรมที่เลือกที่ตั้งโรงงานใกล้แหล่งวัตถุดิบ  มักได้แก่อุตสาหกรรมทางการเกษตร  และอุตสาหกรรมที่ต้องแร่ธาตุเป็นวัตถุดิบ  ตัวอย่างเช่น  โรงงานปูนซีเมนต์  โรงงานถลุงสังกะสี  โรงงานสับปะรดกระป๋อง  และโรงงานปลากระป๋อง  เป็นต้น  ทั้งนี้เพราะวัตถุดิบมีขนาดใหญ่น้ำหนักมากการขนส่งต้องเสียค่าใช้จายสูง  และวัตถุดิบบางประเภทเกิดการเน่าเสียได้ง่าย  จึงต้องรีบส่งเข้าโรงงานอย่างรวดเร็ว
                   ตลาด  (Market)  โรงงานหรือการดำเนินการในลักษณะที่ใช้วัตถุดิบน้อย  มักนิยมตั้งใกล้ตลาดสินค้า  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจการด้านการบริการ  เช่น  โรงแรม  โรงภาพยนตร์  และห้างสรรพสินค้า  เป็นต้น  นอกจากนี้โรงงานอุตสาหกรรมบางประเภทต้องตั้งใกล้ตลาดสินค้า  ทั้งนี้เพราะสินค้าที่ผลิตเกิดการเน่าเสียได้ง่าย  ตัวอย่างเช่น  โรงงานทำขนมปัง  โรงงานไฮศครีมและนมสด  เป็นต้น
                  ในการพิจารณาเลือกที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมว่าควรอยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบ หรืออยู่ใกล้ตลาด  ซึ่ง  สมศักดิ์  ตรีสัตย์  (2537 : 41 – 46)  ได้เสนอเอาไว้  ดังนี้

                   1.  เมื่อวัตถุดิบผ่านกรรมวิธีการผลิตในโรงงานแล้ว  น้ำหนักเปลี่ยนแปลงไปน้อยมาก  หรือน้ำหนักไม่เปลี่ยนแปลงเลย  ลักษณะเช่นนี้โรงงานควรจะอยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบมากกว่าตลาด  เช่น  โรงงานโม่หิน  โรงงานปูนซีเมนต์  โรงงานถลุงแร่  เป็นต้น
                   2.  เมื่อวัตถุดิบผ่านกรรมวิธีการผลิตแล้ว  น้ำหนักเปลี่ยนแปลงไปมากเมื่อผ่านกรรมวิธีการผลิต  และสำเร็จเป็นสินค้าสำเร็จรูปออก  กรณีโรงงานควรจะอยู่ใกล้กับแหล่งวัตถุดิบเหมือนกัน   ทั้งนี้เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่งวัตถุดิบ  เช่น  โรงงานน้ำตาล  ควรตั้งอยู่ใกล้ไร่อ้อย  โรงงานทำสับปะรดกระป๋องควรตั้งอยู่ใกล้ไร่สับปะรด
                   3.  เมื่อวัตถุดิบมีอยู่ทั่วไป  กรณีเช่นนี้  โรงงานควรจะอยู่ใกล้ตลาด  ทั้งนี้ เพราะว่าผลผลิตที่ออกจากโรงงานจะได้ส่งเข้าจำหน่ายในตลาดทันที  เมื่อโรงงานอยู่ใกล้ตลาดบางครั้งลูกค้าจะเข้ามาซื้อสินค้าได้โดยตรงในโรงงาน  ซึ่งจะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่งลงไปอีก
                   4.  เมื่อวัตถุดิบเป็นของที่เน่าเสียหายง่าย  เช่น  กุ้ง  ปลา  ผลไม้  และผักต่าง ๆ  อันเป็นวัตถุดิบของโรงงานทำอาหารกระป๋อง  หรือผลไม้กระป๋อง   โรงงานเช่นนี้ควรตั้งอยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบ  และวัตถุดิบก็ควรจะมากพอด้วย  เพื่อให้ได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพและลดค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาวัตถุดิบ  เสี่ยงต่อความเสียน้อย  หากตั้งโรงงานไกลก็จะต้องมีการขนส่งอย่างรวดเร็วและต้องลงทุนในการเก็บรักษาวัตถุดิบเพิ่ม  ซึ่งทั้งหมดจะทำให้ราคาสินค้าสำเร็จรูปสูงตามไปด้วย
                   แรงงาน   แรงงานเป็นปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งของการผลิต  โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน อุตสาหกรรมประเภทต้องใช้แรงงานมาก  เช่น  อุตสาหกรรมทอผ้า  อุตสาหกรรมประกอบเครื่องไฟฟ้าและแผงวงจรไฟฟ้า  (integrated  circuit)  และอุตสาหกรรมหัตถกรรมต่าง ๆ  เป็นต้น  ความเพียงพอของแรงงานตลอดจนค่าจ้างแรงงานของทำเลที่ตั้งโรงงานแต่ละแห่ง  ย่อมมีผลอย่างสำคัญต่อการตัดสินใจเลือกสถานที่ตั้งโรงงานใหม่  ในเมืองใหญ่หรือชุมชนใหญ่ย่อมมีแรงงานทั้งที่เป็นช่างชำนาญงานและแรงงานไม่ใช้ฝีกมืออยู่มาก  แต่ค่าแรงก็มักจะสูงกว่าในเมืองเล็กหรือชุมชนเล็ก  การตัดสินใจเลือกที่ตั้งโรงงานจึงต้องพิจารณาถึงความพอเพียงของแรงงานและค่าแรงงานประกอบกันที่ดิน  (Land)   การซื้อที่ดิน  เพื่อปลูกสร้างโรงงาน  เป็นการตัดสินใจที่เกี่ยวกับเงิน ก้อนใหญ่  ตามปกติทำเลในเขตเมือง จะมีราคาสูง และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ  ที่ตามมาก็จะราคาสูงด้วย   ดังนั้นโรงงานส่วนมากจะตั้งไกลเมืองออกไปอยู่ตามชนบท  หรือชานเมือง   นอกจากราคาที่ดินต้องพิจารณาแล้วลักษณะที่ดินก็จะต้องพิจารณาด้วยเหมือนกันในงานก่อสร้างโรงงาน  เช่น  ลักษณะที่ดินต่ำจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการถม  อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน  เพื่อเป็นการส่งเสริมการลงทุน  (Investment  promotion)  และติดตามควบคุมระบบการทำงานภายในโรงงานที่อาจจะส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อสภาพสิ่งแวดล้อม  ทางน้ำและทางอากาศ   รัฐบาลจึงได้กำหนดเขตอุตสาหกรรม  ( Industrial  zone )   ขึ้นที่เรียกว่า  “นิคมอุตสาหกรรม”


วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555

การบัญชีเช่าซื้อและซื้อขายผ่อนชำระ



การบัญชีเช่าซื้อและซื้อขายผ่อนชำระ

ความหมายและลักษณะของการซื้อขายผ่อนชำระ
การซื้อขายผ่อนชำระ หมายถึง การขายสินค้าที่ผู้ขายส่งมอบสินค้าหรือให้บริการแก่ผู้ซื้อโดยผู้ขายตกลงยินยอมให้ผู้ซื้อชำระเงินค่าสินค้าหรือบริการเป็นงวด ๆ โดยรับเงินจำนวนหนึ่ง   ครั้งแรกถือเป็นการวางมัดจำก่อน เงินจำนวนนี้ เรียกว่า เงินดาวน์ หลังจากนั้นผู้ซื้อจะผ่อนชำระส่วนที่เหลือเป็นงวด ๆ  ตามระยะเวลาที่ตกลงกัน อาจจะมีการคิดดอกเบี้ยสำหรับเงินที่ค้างชำระ หรือไม่คิดดอกเบี้ยก็ได้
หลักการบัญชีเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายผ่อนชำระ
ตามหลักการบัญชีกำไรของกิจการ จะเกิดขึ้นเมื่อมีการจำหน่ายสินค้านั้นได้ เช่น กิจการจำหน่ายสินค้าเป็นเงินเชื่อ จึงแสดงยอดขายสินค้าเป็นรายได้ในงวดบัญชีที่มีการจำหน่ายสินค้านั้นโดยไม่จำเป็นต้องรอการเก็บเงินจากลูกหนี้ได้ก่อน แต่ในกรณีการขายผ่อนชำระ มีระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ที่ยาวนาน ทำให้เกิดความไม่แน่นอนในการเก็บหนี้ ประกอบกับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการขายผ่อนชำระ เกิดขึ้นในงวดบัญชีภายหลังเป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องกระจายไปในหลาย ๆ งวด ดังนั้นจึงมีการยอมรับหลักการบัญชีที่ว่า รายได้จากการขายผ่อนชำระ ยังไม่ถือเป็นรายได้จนกว่าจะเก็บเงินได้ หลักการบัญชีโดยรอการถือเป็นรายได้จากการขายเงินผ่อนไว้จนกว่าจะเก็บเงินค่าสินค้าได้ เรียกว่า หลักการบัญชีตามเกณฑ์การขายผ่อนชำระ ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายภาษีอากร การปฏิบัติตามหลักการบัญชีตามเกณฑ์การขายผ่อนชำระได้รับการสนับสนุนจากกฎหมายว่าด้วยภาษีอากร ซึ่งเป็นผลทำให้กิจการสามารถเลื่อนการชำระภาษีเงินได้ออกไป จนกว่าจะเก็บเงินค่าสินค้านั้นได้ แต่ในบางประเทศมีแนวความคิดเกี่ยวกับการคำนวณกำไรจากการขายผ่อนชำระเช่นเดียวกับการขายเชื่อ คือ ถือ กำไรเป็นรายได้ในงวดบัญชีที่จำหน่ายสินค้านั้นได้
วิธีการปฏิบัติเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายผ่อนชำระ
วิธีการปฏิบัติเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายผ่อนชำระ ควรระบุเงื่อนไขที่สำคัญไว้ดังนี้
1.     ใช้วิธีการเช่าซื้อสินทรัพย์ จนกว่าจะชำระเงินค่างวดสุดท้าย
2.     กรรมสิทธิ์ในสินทรัพย์หรือสินค้าจะเป็นของผู้ซื้อ ต่อเมื่อผู้ซื้อจะต้องชำระเงินค่างวด  สุดท้ายแล้ว ซึ่งเป็นสัญญาแบบมีเงื่อนไข
         3.    โอนกรรมสิทธิ์ให้กับผู้รักษาผลประโยชน์หรือบริษัทเงินทุนไว้  จนกว่าจะมีการผ่อน ชำระเงินงวดสุดท้ายแล้ว  จึงโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าให้กับผู้ซื้อ แต่ถ้าไม่ชำระเงินงวดกรรมสิทธิ์จะกลับเป็นของผู้ขายอย่างเดิม
วิธีการบันทึกบัญชีตามเกณฑ์การขายผ่อนชำระ
       การบันทึกบัญชี จะบันทึกตามเกณฑ์การขายผ่อนชำระ โดยถือกำไรจากการขายผ่อนชำระเกิดขึ้นตามส่วนของยอดขายที่เก็บเงินได้ในแต่ละปี  เงินที่เก็บได้นี้ ถือเป็นการคืนทุนส่วนหนึ่งอีกส่วนหนึ่ง ถือเป็นกำไรขั้นต้น ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหารทั่วไปถือเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในแต่ละปีวิธีการบันทึกผลต่างระหว่างราคาขายกับต้นทุนขาย เป็นกำไรขั้นต้นที่ยังไม่ถือเป็นรายได้  และโอนเป็นรายได้ตามส่วนของเงินงวดที่เก็บได้     ส่วนค่าใช้จ่ายที่นำมาหักจากรายได้ตามเกณฑ์นี้ให้ถือว่า ค่าใช้จ่าย    

 

ตัวแทนจำหน่าย



ตัวแทนจำหน่าย


ตัวแทนจำหน่าย คือ ตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัทอย่างเป็นทางการสามารถจำหน่ายจ่ายแจกสินค้า
ให้กับทั้งตัวแทนขาย หรือ ตัวแทนจำหน่ายหลายย่อย หรือลูกค้าทั่วไป และ มีทีมงานเจ้าหน้าที่คอยบริการลูกค้าสำหรับบริการหลังการขาย (after sale services) 

เงื่อนไขตัวแทนจำหน่าย
1. ตัวแทนจำหน่ายต้องเป็นบุคคล หรือ นิติบุคคล
2. มีสำนักงานที่ตั้งในพื้นที่พร้อมดำเนินการ
3. ตัวแทนจำหน่ายต้องทำการตลาดและจำหน่ายสินค้า กะปุกท็อปอัพ
4. ต้องสั่งซื้อต้สำหรับเตรียมพร้อมจำหน่ายขั้นต่ำ 10 เครื่อง ในการสมัครเข้ามาครั้งแรก
5. ทั้งนี้ต้องได้รับการอนุมัติแต่งตั้งจาก คณะกรรมการของบริษัท
ส่วนลดการขายบริษัทจะให้ส่วนลดการขายกับศูนย์บริการ โดยขึ้นกับความสามารถของศูนย์บริการในการขยายตลาด
รูปแบบการจำหน่ายให้กับกะปุกท็อปอัพ1. การจำหน่ายรูปแบบขายขาด
2. การจำหน่ายรูปแบบของเฟรนไชส์ของบริษัทฯ
3. การจำหน่ายในรูปแบบเป็นนายทุนเอง และจำหน่ายเฟรนไชส์ด้วยตนเอง
** รายได้ขึ้นอยู่กับรูปแบบการจำหน่าย และการอนุมัติจากบริษัทฯ
พื้นที่ในการจัดจำหน่าย 
ตัวแทนจะมีสิทธิในพื้นที่ที่ทำการร้องขอในการทำสัญญา หรือบริษัทพิจารณาพื้นที่การเป็นตัวแทนจำหน่ายให้
หน้าที่ของศูนย์บริการ 
1. ทำการตลาดและการจัดจำหน่ายตามนโยบายของบริษัท
2. จำหน่ายและส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้า พร้อมการติดตั้ง
3. มีเจ้าหน้าที่คอยให้บริการแนะนำ, ปรึกษา และการสนับสนุนการจัดจำหน่ายแก่ตัวแทนขาย
4. มีทีมช่างที่ออกติดตั้งและดูแลบริการหลังการขายในพื้นที่รับผิดชอบ
5. ควบคุมมาตรฐานของการเป็นตัวแทนจำหน่าย ในด้านการทำตามนโยบายบริษัทฯ การบริการหลังการขายที่ดีให้กับลูกค้า
การสนับสนุนของบริษัท 
1. สนับสนุนข้อมูลการจัดจำหน่ายกะปุกท็อปอัพ, การส่งเสริมการขายต่างๆ ให้กับตัวแทนจำหน่าย
2. การแจกเอกสารประชาสัมพันธ์ เช่น แผ่นพับ
3. มีการโฆษณาผ่านสื่อต่าง เช่น หนังสือ หรือ หน้าเว็บของบริษัท
4. มีระบบงานสำหรับการจัดจำหน่ายที่เป็นผู้ลงทุนตู้ และสามารถบริหารตู้เองได้


การร่วมค้า



การร่วมค้า หมายถึง การประกอบกิจกรรมเชิงเศรษฐกิจของบุคคลหรือกิจการอย่างน้อยสองราย โดยมีการควบคุมร่วมกันตามที่ตกลงไว้ในสัญญา
ลักษณะของกิจการร่วมค้า
1. โครงสร้าง การร่วมค้าประกอบด้วยบุคคลหรือกิจการตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไปลงทุนร่วมกัน เพื่อประกอบกิจการค้า
2. วัตถุประสงค์ การร่วมค้ามีวัตถุประสงค์ที่เฉพาะเจาะจงเพื่อแสวงหากำไรร่วมกัน
3. ระยะเวลาการดำเนินงาน การร่วมค้าเป็นกิจการที่ทำขึ้นในระยะเวลาสั้น เมื่อบรรลุวัตถุประสงค์แล้วก็จะเลิกกิจการ
ประโยชน์ของกิจการร่วมค้า
1. เพื่อผสมผสานทรัพยากร เทคโนโลยี ความรู้ความชำนาญของแต่ละฝ่ายเข้าด้วยกัน ในกรณีการจัดทำโครงการที่ต้องใช้ความรู้และความชำนาญสูง
2. กิจการมีโอกาสได้ลงทุนในโครงการที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ซึ่งกิจการไม่สามารถลงทุนได้เพียงผู้เดียว
3. เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการลงทุน
รูปแบบของการร่วมค้า
1. การควบคุมร่วมในการดำเนินงาน (Jointly Controlled Operations)
2. การควบคุมร่วมในสินทรัพย์ (Jointly Controlled Assets)
3. การควบคุมร่วมในกิจการ (Jointly Controlled Entities)
การควบคุมร่วมในการดำเนินงาน (Jointly Controlled Operations)
การควบคุมร่วมในการดำเนินงาน มีลักษณะการดำเนินงาน ดังนี้
1. ไม่มีการจัดตั้งเป็นบริษัท
2. ไม่มีการแยกโครงสร้างการเงินจากผู้ร่วมค้า
3. ผู้ร่วมค้าจะใช้ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ของตนเอง
4. ผู้ร่วมค้าต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย และหนี้สินของตนเอง
5. มีการกำหนดการจัดสรรผลตอบแทนและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นรวมกันไว้ในสัญญา
6. ไม่ต้องจัดทำงบการเงินของกิจการร่วมค้า