แจ้งผู้เยี่ยมชม...บล๊อกนี้ได้จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการบัญชีและการจัดการระหว่างผู้เยี่ยมชม

วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

การเลือกทำเลที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม


 การเลือกทำเลที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม  
(Selection  of  Plant  Location)


                   การเลือกทำเลที่ตั้งเป็นโรงงานอุตสาหกรรม  เป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้บริหารหรือ ผู้ประกอบการ  เพราะการค้นหาว่าจะตั้งโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ที่ใดที่หนึ่ง  จะมีผลโดยตรงต่อค่าใช้จ่ายทั้งที่เป็นต้นทุนคงที่ และตันทุนแปรผัน  ซึ่งผลกำไรจากบริษัทจะได้รับผลกระทบทันทีหากตัดสินใจเลือกที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมไม่เหมาะสม  แต่เมื่อมีความจำเป็นจะต้องเลือกสถานที่ตั้งโรงงานใหม่  ผู้บริหารหรือผู้ประกอบการก็จะต้องตัดสินใจวางแผนเลือกที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการดำเนินการ
ทำเลที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม
                   ทำเลที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม  (Plant  Location)  หมายถึง  สถานที่ที่สำหรับประกอบกิจกรรมทางธุรกิจขององค์การ  เช่น  โรงงาน  โกดังสินค้า  สำนักงานใหญ่ หรือสาขา  เป็นต้น    ที่ตั้งโรงงานจะมีความสำคัญต่อการผลิตและการดำเนินการ  การเลือกที่ตั้งจึงเป็นกระบวนการในการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูล  เพื่อกำหนดสถานที่ที่ธุรกิจสามารถดำเนินงานได้สะดวก และมีประสิทธิภาพสูงสุด  โดยพิจารณา  ต้นทุน  รายได้  ความสัมพันธ์ที่มีต่อบุคลากร  ลูกค้า  ตลาด  และวัตถุดิบ  ตลอดจนสภาพแวดล้อมในการดำเนินงาน
                   การเลือกทำเลที่ตั้งโรงงาน เป็นการตัดสินใจที่สำคัญของธุรกิจ  เนื่องจากการลงทุนในแต่ละครั้งจะมีปริมาณสูงและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายหลังการกำหนดที่ตั้งโรงงาน  จะมีค่าใช้จ่ายและค่าเสียโอกาสเกิดขึ้นซึ่ง  ณัฎฐพันธ์  เขจรนันทน์  (2542 : 97)  เสนอไว้ดังนี้

                   1.  การลงทุน  (Investment)  ปกติการลงทุนในสถานที่  อาคาร  เครื่องจักร  และ อุปกรณ์  จะต้องใช้เงินลงทุนสูงและเคลื่อนย้ายยาก  ซึ่งผู้บริหารต้องตัดสินใจเกี่ยวกับการเช่าหรือซื้อขาดว่าทางเลือกใดมีความเหมาะสมกว่ากัน
                   2.  ต้นทุนการบริหาร  (Management  Cost)   การตัดสินใจเลือกที่ตั้งมีผลกระทบต่อการจัดการทางการเงินและต้นทุนการดำเนินงาน  เนื่องจากที่ตั้งแต่ละแห่งมีต้นทุนที่แตกต่างกัน  เช่น  ค่าขนส่งสินค้าและวัตถุดิบ  การติดต่อสื่อสาร  และค่าจ้างแรงงาน  เป็นต้น
                   3.  การขยายกิจการ  (Growth)  การขยายตัวในอนาคตขององค์การทั้งด้านการดำเนินงานหรือตลาด  ซึ่งผู้บริหารจะต้องพิจารณาข้อเปรียบเทียบของแต่ละทางเลือก  เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาความคับแคบในการดำเนินงานหรือให้บริการในอนาคต  แต่ถ้าธุรกิจจัดเตรียมพื้นที่มากเกินไปจะเป็นการลงทุนที่ไม่มีผลตอบแทน  ตลอดจนก่อให้เกิดต้นทุนที่สูงในการดำเนินงาน
                   4.  ความได้เปรียบในการแข่งขัน  (Competitive  Advantage)  เป็นประเด็นสำคัญในการตัดสินใจของผู้บริหาร  ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลวของธุรกิจ  ที่ตั้งที่เหมาะสมช่วยให้ต้นทุนการดำเนินงานของธุรกิจต่ำ  ทั้งต้นทุนทางตรงและทางอ้อม  ตลอดจนที่ตั้งที่เหมาะสมช่วยดึงดูดผู้บริโภค  ซึ่งจะช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับธุรกิจ

ปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกที่ตั้งโรงงาน
                   ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกที่ตั้งโรงงานมีอยู่มากมาย  อย่างไรก็ตามมักปรากฏอยู่เสมอว่า มีเพียงปัจจัยไม่กี่อย่างที่มีผลสำคัญต่อการตัดสินใจ   ตัวอย่างเช่น  ในกรณีของโรงงานผลิตสินค้า  ปัจจัยที่มีผลอย่างสำคัญต่อการเลือกที่ตั้งประกอบด้วย  ความพร้อมทางด้านพลังงาน  เส้นทางการขนส่ง  และแหล่งวัตถุดิบ   ตัวอย่างเช่น  โรงงานอุตสาหกรรมเหล็กกล้าต้องอยู่ใกล้แหล่งพลังงานคือไฟฟ้า  โรงงานปูนซีเมนต์ต้องอยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบ  เป็นต้น   นอกจากนี้เส้นทางการขนส่งทั้งทางน้ำ  บก  และอากาศ  ก็จะมีผลอย่างสำคัญต่อต้นทุนการผลิตและจำหน่าย
                   อย่างไรก็ตาม  ปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกที่ตั้งของโรงงาน  อาจแบ่งได้เป็น  2  กลุ่ม  คือ  ปัจจัยที่เกี่ยวกับทรัพยากรการผลิต  และปัจจัยที่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อม

                   ปัจจัยที่เกี่ยวกับทรัพยากรการผลิต  ปัจจัยที่เกี่ยวกับทรัพยากรการผลิต  ประกอบด้วย  วัตถุดิบ  ตลาดสินค้า  แรงงาน  ที่ดิน  การขนส่ง  แหล่งพลังงาน  และสาธารณูปโภคต่าง ๆ
                   วัตถุดิบ  (Material)  การตัดสินใจเลือกที่ตั้งโรงงานที่ใกล้แหล่งวัตถุดิบมีเหตุผลหลัก  คือเพื่อลดต้นทุนการผลิตอันเกิดจากการขนส่งวัตถุดิบ  อุตสาหกรรมที่เลือกที่ตั้งโรงงานใกล้แหล่งวัตถุดิบ  มักได้แก่อุตสาหกรรมทางการเกษตร  และอุตสาหกรรมที่ต้องแร่ธาตุเป็นวัตถุดิบ  ตัวอย่างเช่น  โรงงานปูนซีเมนต์  โรงงานถลุงสังกะสี  โรงงานสับปะรดกระป๋อง  และโรงงานปลากระป๋อง  เป็นต้น  ทั้งนี้เพราะวัตถุดิบมีขนาดใหญ่น้ำหนักมากการขนส่งต้องเสียค่าใช้จายสูง  และวัตถุดิบบางประเภทเกิดการเน่าเสียได้ง่าย  จึงต้องรีบส่งเข้าโรงงานอย่างรวดเร็ว
                   ตลาด  (Market)  โรงงานหรือการดำเนินการในลักษณะที่ใช้วัตถุดิบน้อย  มักนิยมตั้งใกล้ตลาดสินค้า  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจการด้านการบริการ  เช่น  โรงแรม  โรงภาพยนตร์  และห้างสรรพสินค้า  เป็นต้น  นอกจากนี้โรงงานอุตสาหกรรมบางประเภทต้องตั้งใกล้ตลาดสินค้า  ทั้งนี้เพราะสินค้าที่ผลิตเกิดการเน่าเสียได้ง่าย  ตัวอย่างเช่น  โรงงานทำขนมปัง  โรงงานไฮศครีมและนมสด  เป็นต้น
                  ในการพิจารณาเลือกที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมว่าควรอยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบ หรืออยู่ใกล้ตลาด  ซึ่ง  สมศักดิ์  ตรีสัตย์  (2537 : 41 – 46)  ได้เสนอเอาไว้  ดังนี้

                   1.  เมื่อวัตถุดิบผ่านกรรมวิธีการผลิตในโรงงานแล้ว  น้ำหนักเปลี่ยนแปลงไปน้อยมาก  หรือน้ำหนักไม่เปลี่ยนแปลงเลย  ลักษณะเช่นนี้โรงงานควรจะอยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบมากกว่าตลาด  เช่น  โรงงานโม่หิน  โรงงานปูนซีเมนต์  โรงงานถลุงแร่  เป็นต้น
                   2.  เมื่อวัตถุดิบผ่านกรรมวิธีการผลิตแล้ว  น้ำหนักเปลี่ยนแปลงไปมากเมื่อผ่านกรรมวิธีการผลิต  และสำเร็จเป็นสินค้าสำเร็จรูปออก  กรณีโรงงานควรจะอยู่ใกล้กับแหล่งวัตถุดิบเหมือนกัน   ทั้งนี้เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่งวัตถุดิบ  เช่น  โรงงานน้ำตาล  ควรตั้งอยู่ใกล้ไร่อ้อย  โรงงานทำสับปะรดกระป๋องควรตั้งอยู่ใกล้ไร่สับปะรด
                   3.  เมื่อวัตถุดิบมีอยู่ทั่วไป  กรณีเช่นนี้  โรงงานควรจะอยู่ใกล้ตลาด  ทั้งนี้ เพราะว่าผลผลิตที่ออกจากโรงงานจะได้ส่งเข้าจำหน่ายในตลาดทันที  เมื่อโรงงานอยู่ใกล้ตลาดบางครั้งลูกค้าจะเข้ามาซื้อสินค้าได้โดยตรงในโรงงาน  ซึ่งจะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่งลงไปอีก
                   4.  เมื่อวัตถุดิบเป็นของที่เน่าเสียหายง่าย  เช่น  กุ้ง  ปลา  ผลไม้  และผักต่าง ๆ  อันเป็นวัตถุดิบของโรงงานทำอาหารกระป๋อง  หรือผลไม้กระป๋อง   โรงงานเช่นนี้ควรตั้งอยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบ  และวัตถุดิบก็ควรจะมากพอด้วย  เพื่อให้ได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพและลดค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาวัตถุดิบ  เสี่ยงต่อความเสียน้อย  หากตั้งโรงงานไกลก็จะต้องมีการขนส่งอย่างรวดเร็วและต้องลงทุนในการเก็บรักษาวัตถุดิบเพิ่ม  ซึ่งทั้งหมดจะทำให้ราคาสินค้าสำเร็จรูปสูงตามไปด้วย
                   แรงงาน   แรงงานเป็นปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งของการผลิต  โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน อุตสาหกรรมประเภทต้องใช้แรงงานมาก  เช่น  อุตสาหกรรมทอผ้า  อุตสาหกรรมประกอบเครื่องไฟฟ้าและแผงวงจรไฟฟ้า  (integrated  circuit)  และอุตสาหกรรมหัตถกรรมต่าง ๆ  เป็นต้น  ความเพียงพอของแรงงานตลอดจนค่าจ้างแรงงานของทำเลที่ตั้งโรงงานแต่ละแห่ง  ย่อมมีผลอย่างสำคัญต่อการตัดสินใจเลือกสถานที่ตั้งโรงงานใหม่  ในเมืองใหญ่หรือชุมชนใหญ่ย่อมมีแรงงานทั้งที่เป็นช่างชำนาญงานและแรงงานไม่ใช้ฝีกมืออยู่มาก  แต่ค่าแรงก็มักจะสูงกว่าในเมืองเล็กหรือชุมชนเล็ก  การตัดสินใจเลือกที่ตั้งโรงงานจึงต้องพิจารณาถึงความพอเพียงของแรงงานและค่าแรงงานประกอบกันที่ดิน  (Land)   การซื้อที่ดิน  เพื่อปลูกสร้างโรงงาน  เป็นการตัดสินใจที่เกี่ยวกับเงิน ก้อนใหญ่  ตามปกติทำเลในเขตเมือง จะมีราคาสูง และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ  ที่ตามมาก็จะราคาสูงด้วย   ดังนั้นโรงงานส่วนมากจะตั้งไกลเมืองออกไปอยู่ตามชนบท  หรือชานเมือง   นอกจากราคาที่ดินต้องพิจารณาแล้วลักษณะที่ดินก็จะต้องพิจารณาด้วยเหมือนกันในงานก่อสร้างโรงงาน  เช่น  ลักษณะที่ดินต่ำจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการถม  อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน  เพื่อเป็นการส่งเสริมการลงทุน  (Investment  promotion)  และติดตามควบคุมระบบการทำงานภายในโรงงานที่อาจจะส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อสภาพสิ่งแวดล้อม  ทางน้ำและทางอากาศ   รัฐบาลจึงได้กำหนดเขตอุตสาหกรรม  ( Industrial  zone )   ขึ้นที่เรียกว่า  “นิคมอุตสาหกรรม”


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น