แจ้งผู้เยี่ยมชม...บล๊อกนี้ได้จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการบัญชีและการจัดการระหว่างผู้เยี่ยมชม

วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

7 หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกพนักงาน


7 หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกพนักงาน



พนักงานคือผู้ที่อยู่เบื้องหลังม่านความสำเร็จของบริษัทมาโดยตลอด เรียกได้ว่าบริษัทไหนมีพนักงานดีก็มีชัยไปแล้วกว่าครึ่ง พนักงานจึงกลายเป็นบุคคลที่มีความสำคัญไม่ต่างจากลูกค้าของกิจการเลยก็ว่าได้ ทุกบริษัทจึงต่างแสวงหาพนักงานที่ดีและมีคุณภาพมากที่สุดเพื่อดึงเข้ามาร่วมงานกับองค์กรของตนเอง โดยในองค์กรจะมีแผนกสรรหาคัดเลือกบุคคลเข้าเป็นพนักงาน เราลองมาดูกันว่า แผนกสรรหาคัดเลือกใช้หลักเกณฑ์อะไรบ้างในการคัดเลือกพนักงาน 

1.ความรู้
อย่างแรกที่นำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินรับพนักงานก็คือ “ความรู้” ซึ่งความรู้ในที่นี้จะต้องเป็นความรู้ที่พนักงานคนดังกล่าวรู้และมีความเชี่ยวชาญในสาขานั้นจริงๆ ไม่ใช่รู้แบบน้ำเต้าปูปลาอันหรือรู้แบบฉาบฉวยและไม่สามารถนำมาใช้ปฏิบัติงานได้จริง ใบปริญญาบัตรจึงถือเสมือนเป็นหนึ่งในสิ่งที่จะแสดงถึงคุณวุฒินั้นๆ ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการใช้วิธีการตรวจวัดโดยให้ทำแบบทดสอบหรือการทดลองงานก็ได้ เพื่อให้สามารถวัดถึงระดับความรู้ ความสามารถ

2.ประสบการณ์

เป็นอีกหนึ่งหลักเกณฑ์ที่มักจะนำมาใช้เป็นบรรทัดฐานในการคัดเลือกพนักงาน ซึ่งผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำงานมักจะมีไหวพริบและสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆได้ดีกว่าคนที่ยังไม่มีประสบการณ์การทำงาน บ้างก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมาเสียเวลานั่งสอนวิธีการทำงานให้ใหม่ทั้งหมด บ้างก็ต้องสอนวิธีการทั้งหมด แต่ด้วยความที่มีประสบการณ์ จึงเป็นเสมือนสิ่งรับรองว่า การเรียนรู้งานจะเป็นไปได้รวดเร็วกว่าผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ 

3.ผลการศึกษา

ผลการศึกษาก็เป็นสิ่งที่มักจะนำมาใช้ประกอบการพิจารณา เพราะเป็นการวัดระดับความรู้ของผู้ที่มาสมัครในเบื้องต้นว่ามีมากเพียงไรและความเหมาะสมกับการทำงานในบริษัทหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันก็พิจารณาลงลึกถึงในรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับกิจการมากกว่าจะตัดสินจากเกรดเฉลี่ยรวม เพราะแต่ละคนย่อมจะมีวิชาที่ถนัดแตกต่างกันออกไป ซึ่งบางคนอาจจะมีความสามารถในรายวิชาที่ทางบริษัทต้องการจริง แต่อาจจะมีรายวิชาที่ไม่เกี่ยวข้องมาทำให้เกรดเฉลี่ยไม่สูงเท่าที่ควร 

4.สถาบันการศึกษา

ข้อนี้ตัวข้าน้อยก็ไม่ชอบ เพราะสถาบันไม่ว่าจะชื่อไหนก็คือสถานที่ที่ซึ่งประสิทธิ์ประศาสตร์วิชาความรู้ด้วยกันทั้งสิ้น แต่ในสังคมไทยเองยังติดเรื่องอยู่นี้มากนัก เมื่อไม่นานก็มีการจัดอันดับมหาวิทยาลัย ทำให้นักศึกษาหลายๆ คนหวั่นวิตก เพราะไม่มีใครอยากอยู่ศึกษาในมหาวิทยาลัยที่ไม่ถึงเกณฑ์ จึงเป็นอีกหลักเกณฑ์ที่ทางบริษัทนำมาพิจารณา เพราะหลายองค์กรมีการสร้างวัฒนธรรมเครือข่าย ระหว่างพี่-น้อง แต่บางองค์กร มีการมองไปที่เรื่องของสาขาที่แตกต่างกันมากกว่า เช่น สถาบัน A มีชื่อเสียงในเรื่องของวิศวกรรม แต่สถาบัน B มีชื่อเสียงในเรื่องการบัญชี ในขณะเดียวกัน เป็นต้น

5.ความซื่อสัตย์และความรับผิดชอบ
ความซื่อสัตย์และความรับผิดชอบถือเป็นหลักเกณฑ์ที่สำคัญมากในการตรวจสอบพิจารณาคัดเลือกพนักงานเข้าสู่บริษัท เพราะคนที่มีความซื่อสัตย์และความรับผิดชอบทั้งต่อตัวเองและผู้อื่นจะเป็นคนที่มีความจริงใจกับบริษัทและผู้ร่วมงานมาก ซึ่งคนที่มีลักษณะดังที่กล่าวมานี้ทั้งสอง ประการจะเป็นผู้ที่มีมาตรฐานในการทำงานสูงและผู้ประกอบการสามารถไว้วางใจให้เขาดูแลในเรื่องที่สำคัญๆของธุรกิจแทนได้ในบางโอกาสด้วย โดยความซื่อสัตย์และความรับผิดชอบนี้อาจจะเป็นเรื่องที่ตรวจสอบได้ค่อนข้างยากในช่วงของการสัมภาษณ์งาน จึงเป็นอีกข้อหนึ่งที่พนักงานควรแสดงให้เห็นในช่วงทดลองงาน

6.ลักษณะบุคลิกภาพ
การจะคัดเลือกให้ใครสักคนเข้ามาร่วมงานกับทางบริษัท จะมีการพิจารณาในเรื่องของบุคลิกภาพควบคู่กันไปด้วยเสมอ ซึ่งบุคคลิกภาพตามที่กล่าวมาไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นคนที่หน้าตาดีแต่ขอให้มีมารยาททั้งการพูดและการปฏิบัติ มีกาละเทศะ สะอาด แต่งตัวดูดี น่าเชื่อถือ เป็นต้น (มิฉะนั้นคนหน้าตาไม่ดีเยี่ยงข้าน้อย จะหางานทำไม่ได้ ถ้าบริษัทเลือกแต่คนหน้าตาเทพ ... อิอิอิ)

7.มีมนุษย์สัมพันธ์
เป็นหลักเกณฑ์ที่ตรวจสอบก่อนที่จะรับพนักงานแต่ละครั้งกันอยู่บ่อยๆ สำหรับเรื่องของมนุษยสัมพันธ์ในแต่ละบุคคล เพราะว่าการทำงานในบริษัทเป็นลักษณะของการทำงานในรูปแบบทีมเวิร์คที่จะต้องอาศัยการพึ่งพาติดต่อระหว่างกันภายในองค์กรอยู่ตลอด ถ้าบริษัทไหนมีพนักงานที่มีมนุษยสัมพันธ์แย่ระบบการทำงานก็จะพังไปทั้งระบบ ซึ่งการตรวจสอบด้านมนุษยสัมพันธ์อาจจะอาศัยช่วงการทดลองงาน (ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 3 - 6 เืดือน)


ที่มา:http://www.jobbkk.com/th/relax/webboard/viewtopic.php?id=19470

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น