แจ้งผู้เยี่ยมชม...บล๊อกนี้ได้จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการบัญชีและการจัดการระหว่างผู้เยี่ยมชม

วันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2555

หุ้นบุริมสิทธิ


หุ้นบุริมสิทธิ (Preferred Stock) เป็นตราสารประเภททุนชนิดหนึ่งที่มีลักษณะกึ่งหนี้และกึ่งเจ้าของลักษณะที่คล้ายหนี้สิน คือ เงินปันผลของหุ้นบุริมสิทธิเป็นอัตราตายตัวและถือเป็นค่าใช้จ่ายคงที่ของบริษัทแม้ว่าบริษัทอาจงดจ่ายเงินปันผลในปีที่ไม่มีกำไรหรือภาวะทางการเงินไม่อำนวย
ส่วนลักษณะที่คล้ายเจ้าของ คือ ในกรณีที่บริษัทเลิกกิจการ ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิเรียกร้องในสินทรัพย์ของบริษัทภายหลังเจ้าหนี้แต่ก่อนหุ้นสามัญ แต่ถ้าไม่มีสินทรัพย์เหลือหลังการชำระคืนเจ้าหนี้แล้ว ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิก็จะไม่ได้รับทุนคืนเช่นเดียวกับหุ้นสามัญ ประเภทของหุ้นบุริมสิทธิ มีดังนี้
1) หุ้นบุริมสิทธิชนิดสะสม (Cumulative Preferred Stock) คือ หุ้นบุริมสิทธิชนิดที่ผู้ถือหุ้นมีสิทธิ์ได้รับเงินปันผลในปีที่ไม่ได้ประกาศจ่ายเงินปันผล
2) หุ้นบุริมสิทธิชนิดไม่สะสม (Non – Cumulative Preferred Stock) คือ หุ้นบุริมสิทธิชนิดที่หากปีใดไม่ได้จ่ายเงินปันผล จะไม่สามารถยกยอดไปจ่ายในปีถัดไป
3) หุ้นบุริมสิทธิชนิดร่วมรับ (Participating Preferred Stock) คือ หุ้นบุริมสิทธิที่ผู้ถือห้นมีสิทธิ์ได้รับเงินปันผลร่วมกับผู้ถือหุ้นสามัญอีก หลังจากที่ได้รับเงินปันผลในอัตราที่กำหนดแล้ว
4) หุ้นบุริมสิทธิชนิดไม่ร่วมรับ (Non – Participating Preferred Stock) คือ หุ้นบุริมสิทธิที่ได้รับเงินปันผลตามอัตราที่กำหนดเท่านั้น
.

ข้อดีของการจัดหาเงินทุนโดยการออกหุ้นบุริมสิทธิ

1. มีความคล่องตัวและความยืดหยุ่น กล่าวคือ เงินปันผลจ่ายหุ้นบุริมสิทธิไม่เป็นภาระผูกพันที่ต้องจ่ายประจำเมื่อเปรียบเทียบกับดอกเบี้ยจ่ายให้หุ้นกู้ซึ่งมีฐานะเป็นหนี้สินของกิจการ
2. ไม่มีกำหนดเวลาไถ่ถอนคืน ทำให้ธุรกิจไม่ต้องเตรียมจัดสรรเงินทุนไว้เพื่อไถ่ถอน
3. หุ้นบุริมสิทธิถือเป็นส่วนของเจ้าของ ดังนั้น การออกหุ้นบุริมสิทธิจึงยังทำให้บริษัทรักษาฐานะและอำนาจใกนารก่อหนี้ไว้ได้ ถ้ามีความจำเป็นต้องจัดหาเงินทุนเพิ่มเติมในอนาคต
4. การออกหุ้นบุริมสิทธิ ทำให้กิจการอาจไม่จำเป็นต้องออกหุ้นสามัญอีก ดังนั้น จึงไม่กระทบกระเทือนราคาหุ้นสามัญ
5. การออกหุ้นบุริมสิทธิไม่ต้องมีสินทรัพย์ค้ำประกัน ทำให้กิจการสามารถนำสินทรัพย์ที่มีอยู่ไปค้ำประกันหนี้ชนิดอื่นได้
.

ข้อเสียของการจัดหาเงินทุนโดยวีการออกหุ้นบุริมสิทธิ

1. อัตราเงินปันผลจ่ายหุ้นบุริมสิทธิสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้
2. เงินปันผลของหุ้นบุริมสิทธิไม่ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่นำไปหักภาษีในการคำนวณหากำไรสุทธิ
3. ค่าใช้จ่ายในการจัดหาเงินทุนโดยการออกหุ้นบุริมสิทธิ เช่น ค่าใช้จ่ายในการจัดจำหน่าย ค่านายหน้า มักสูงกว่าหุ้นกู้
4. ความนิยมลงทุนในหุ้นบุริมสิทธิมีน้อย เนื่องจากข้อเสียเปรียบบางประการสำหรับผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ เช่น ไม่มีสิทธิออกเสียงในการบริหารงาน ดังนั้นการจัดหาเงินทุนโดยการออกหุ้นบุริมสิทธิจึงมีความเสี่ยงต่อการไม่สามารถจัดหาเงินทุนได้ครบตามจำนวนที่ต้องการเนื่องจากขายไม่ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น