แจ้งผู้เยี่ยมชม...บล๊อกนี้ได้จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการบัญชีและการจัดการระหว่างผู้เยี่ยมชม

วันพุธที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2555


การจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด



ห้างหุ้นส่วน  คือองค์กรในการประกอบธุรกิจการค้ารูปแบบหนึ่ง  ซึ่งเหมาะกับกิจการค้าขนาดกลางและขนาดย่อมโดยการจัดตั้งต้องจดทะเบียนและมีสถานะเป็นนิติบุคคล   และลักษณะของห้างหุ้นส่วนจำกัดเป็นดังต่อไปนี้
1.มีหุ้นส่วนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป
2.หุ้นส่วนแบ่งเป็น 2 จำพวก คือ ไม่จำกัดความรับผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัด  กับหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดในหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดไม่เกินจำนวนเงินที่ตนลงทุน
3.หุ้นส่วนทุกคนต้องมีเงิน  ทรัพย์สิน  หรือแรงงานมาร่วมลงทุนและ
4.มีความประสงค์จะแบ่งปันกำไรที่ได้มาจากการร่วมกันประกอบกิจการค้า

การจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด
ขั้นตอนที่ 1
ทำความตกลงระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนในเรื่องสำคัญๆ
เนื่องจากห้างหุ้นส่วนจำกัดเป็นการประกอบกิจการค้าโดยมีคนหลายคนเข้ามาเกี่ยวข้องดังนั้น  เพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างประกอบการค้า  ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนจึงทำความตกลงกันในเรื่องสำคัญๆดังต่อไปนี้ไว้ก่อนให้ชัดเจน
1.จำนวนเงินลงทุนหรือสิ่งที่หุ้นส่วนแต่ละคนจะนำมาลงทุน (ผู้เป็นหุ้นส่วนสามารถลงทุนด้วยเงิน  ทรัพย์สินหรือแรงงานก้ได้  ยกเว้นหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดจะลงทุนด้วยแรงงานไม่ได้  การลงทุนด้วยทรัพย์สินหรือแรงงานต้องตีราคาเป็นจำนวนเงินและกำหนดระยะเวลาชำระเงินหรือสิ่งที่ผู้เป็นหุ้นส่วนจะนำมาลงทุน (ควรชำระให้ครบก่อนการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วน)
2.กำหนดขอบเขตหรือกรอบของกิจการค้าที่จะให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดสามารถประกอบได้  หรือที่เรียกว่า " วัตถุประสงค์ " ในปัจจุบันส่วนมากจะกำหนดวัตถุประสงค์ไว้เป็นจำนวนมากๆ คล่องตัวในการเพิ่มหรือปรับเปลี่ยนกิจการค้าจะได้ไม่ต้องเสียเวลาในการจดทะเบียนเพิ่ม  หรือเปลี่ยนวัตถุที่ประสงค์แต่การจดทะเบียนวัตถุที่ประสงค์ไว้เป็นจำนวนมากๆนั้นอาจไม่เป็นผลดี  เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้บริหารประกอบกิจการค้าที่ไม่เป็นไปตามแนวทางที่ตนถนัด  และให้อำนาจกว้างขวางมากเกินไป
3.แต่งตั้งหุ้นส่วนผู้จัดการ (หุ้นส่วนผู้จัดการคือผู้ที่จะมีอำนาจกระทำการแทนห้างหุ้นส่วนจำกัด  ซึ่งต้องแต่งตั้งจากหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดเท่านั้น
4.การแบ่งส่วนผลกำไรและขาดทุน
5.เรื่องอื่นๆ เช่น  หลักเกณฑ์และวิธีการเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาจัดตั้งห้างเดิม  สถานที่ที่จะใช้เป็นที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่  ข้อจำกัดในการใช้อำนาจของห้างหุ้นส่วนผู้จัดการ  และการตั้งผู้สอบบัญชี  เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 2
ขอตรวจสอบและจองชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด
เนื่องจากในปัจจุบันมีการประกอบกิจการในรูปแบบของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน  บริษัทจำกัด  และบริษัทมหาชนจำกัด เป็นจำนวนมาก  ดังนั้น  เพื่อมิให้เกิดความสับสนเกี่ยวกับชื่อที่คล้ายกันหรือซ้ำกัน  กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจึงกำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดขึ้นใหม่ต้องขอตรวจและจองชื่อนิติบุคคลก่อนจะจดทะเบียนจัดตั้ง
ขั้นตอนที่ 3
จัดทำคำขอจดทะเบียนและเอกสารประกอบ
เมื่อชื่อที่จะจดทะเบียนผ่านการตรวจและตอบรับจากเจ้าหน้าที่ว่าไม่คล้ายหรือซ้ำกับนิติบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้ก่อนแล้ว  ผู้ขอจดทะเบียนต้องกรอกรายละเอียด (โดยวิธีการพิมพ์) ในแบบพิมพ์คำขอจดทะเบียนให้ครบถ้วนถูกต้องตรงตามความเป็นจริงในแบบพิมพ์คำขอจดทะเบียน
ขั้นตอนที่ 4
การยื่นขอจดทะเบียนมี 2 วิธี คือ
1.ยื่นคำขอจดทะเบียนพร้อมเอกสารประกอบต่อนายทะเบียน  กรณีนี้  หุ้นส่วนผู้จัดการจะไปยื่นขอจดทะเบียนด้วยตนเอง  หรือมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปดำเนินการแทนได้
2.ยื่นขอจดทะเบียนทางอินเทอร์เน็ตที่ 
www.dbd.go.th เพื่อให้นายทะเบียนตรวจพิจารณาคำขอจดทะเบียนก่อน  และเมื่อผ่านการตรวจและตอบรับว่าคำขอจดทะเบียนถูกต้องแล้วให้ผู้ขอจดทะเบียน print out เอกสารคำขอจดทะเบียนดังกล่าวให้ผู้เป็นหุ้นส่วนลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของห้างฯ หลังจากนั้นก็นำไปยื่นขอจดทะเบียน  ซึ่งขั้นตอนนี้จะมีความรวดเร็วกว่ากรณีการยื่นขอจดทะเบียนตาม 1.มาก  เนื่องจากนายทะเบียนจะตรวจเอกสารคำขอจดทะเบียนที่นำมายื่นนั้น  ว่ามีข้อความถูกต้องตรงกับที่ยื่นไว้ทางอินเทอร์เน็ตหรือไม่เท่านั้น

เอกสารและหลักฐานที่ต้องใช้ในการจดทะเบียน
1.คำขอจดทะเบียน (แบบ  หส.1)
2.รายการจดทะเบียน (แบบ  หส.2)
3.วัตถุประสงค์ (แบบ  ว.)
4.แบบจองชื่อนิติบุคคล
5.แบบ  สสช.1 จำนวน 1 ฉบับ
6.สำเนาหลักฐานการรับชำระเงินลงหุ้นที่ห้างหุ้นส่วนได้ออกให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วน
7.กรณีมีคนต่างด้าวลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนตั้งแต่ร้อยละ 40 แต่ไม่ถึงร้อยละ 50 ของหุ้นจดทะเบียน  หรือมีคนต่างด้าวลงหุ้นส่วนต่ำกว่าร้อยละ 40 ของทุนจดทะเบียน  แต่คนต่างด้าวเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนห้างหุ้นส่วน  ให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนที่มีสัญชาติไทยส่งหลักฐานแสดงที่มาของเงินลงทุนซึ่งปรากฎจำนวนเงินสอดคล้องกับจำนวนเงินที่นำมาลงหุ้นของผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคน  ดังนี้
-สำเนาสมุดเงินฝากธนาคาร  หรือสำเนาใบแจ้งยอดบัญชีย้อนหลัง 6 เดือน  หรือ
-เอกสารที่ธนาคารออกให้  เพื่อรับรองหรือแสดงฐานะทางการเงินของผู้เป็นหุ้นส่วน  หรือ
-สำเนาหลักฐานแสดงแหล่งที่มาของเงินที่นำมาลงหุ้น
8.สำเนาบัตรประจำตัวของหุ้นส่วนผู้จัดการที่ลงลายมือชื่อในคำขอจอทะเบียน
9.สำเนาหลักฐานการเป็นผู้รับรองลายมือ (ถ้ามี)
10.หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)

อัตราค่าธรรมเนียม
1.การจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนทุกจำนวนเงินไม่เกิน 10000 บาท  แห่งทุนที่กำหนดไว้ 100 บาท  เศษของ 10000 บาท  ให้คิดเป็น  100000 บาท  ทั้งนี้รวมกันไม่ให้ต่ำกว่า 1000 บาทและไม่ให้เกิน 5000 บาท
2.หนังสือรับรองฉบับละ 200 บาท
3.ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน ฉบับละ 100 บาท
4.กรณีขอให้นายทะเบียนรับรองเอกสารคำขอจดทะเบียน หน้าละ 50 บาท

สถานที่ยื่นขอจดทะเบียน
สำนักงานแห่งใหญ่ของห้างหุ้นส่วนตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครยื่นจดทะเบียนได้ที่  ส่วนจดทะเบียนธุรกิจกลาง  กรมพัฒนาธุรกิจการค้า  ชั้น 9 ถนนนนทบุรี  1  จังหวัดนนทบุรี  หรือสำนักงานบริการจดทะเบียนธุรกิจทั้ง  7 แห่ง
หากสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในจังหวัดอื่น  ยื่นจดทะเบียนได้ที่สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัดที่สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่  และสามารถขอจดทะเบียนทางอินเทอร์เน็ตที่ 
www.dbd.go.th ได้อีกทางหนึ่งด้วย
คำขอจดทะเบียนและเอกสารประกอบ  สามารถขอและซื้อได้ที่หน่วยงานของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าทุกแห่ง  หรือ Download ได้จาก 
www.dbd.go.th

ข้อควรรู้เพิ่มเติม
การลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียน  หุ้นส่วนผู้จัดการผู้ขอจะทะเบียนจะต้องลงลายมือชื่อด้วยตนเองต่อหน้านายทะเบียน  ในกรณีที่ไม่อาจลงลายมือชื่อต่อหน้านายทะเบียนได้ไม่ว่าด้วยประการใดๆ ให้ผู้ขอจดทะเบียนลงลายมือชื่อด้วยตนเองต่อหน้าบุคคลดังต่อไปนี้
1.กรณีลงลายมือชื่อในราชอาณาจักร
(1)พนักงานฝ่ายปกครอง  หรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ซึ่งประจำอยู่ในท้องที่ที่ผู้ขอจดทะเบียนมีภูมิลำเนาอยู่
(2)สามัญสมาชิกหรือสมาชิกวิสามัญแห่งเนติบัณฑิตยสภา หรือ
(3)บุคคลอื่นตามที่นายทะเบียนกลางประกาศกำหนด ได้แก่
-ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต
-กรรมการและเจ้าหน้าที่หอการค้าไทยและหอการค้าจังหวัด  ตามประกาศสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลาง  เรื่องกำหนดบุคคลที่ผู้ขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัดจะลงลายมือชื่อต่อหน้าได้ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2550
2.กรณีลงลายมือชื่อในต่างประเทศ
(1)เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของสถานฑูตหรือสถานกงสุลไทยหรือหัวหน้าสำนักงานสังกัดกระทรวงพาณิชย์  ซึ่งรับผิดชอบการดำเนินงาน ณ ประเทศนั้น  หรือเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบหมายให้ทำการแทนบุคคลดังกล่าว
(2)บุคคลซึ่งสามารถให้การรับรองที่สมบูรณ์ตามแบบของกฎหมายแห่งประเทศนั้น  หรือ
(3)บุคคลที่ควรเชื่อถือได้สองคนมาลงลายมือชื่อรับรองต่อหน้านายทะเบียนว่าเป็นลายมือชื่อผู้นั้นจริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น